นับจากอดีต มนุษย์เรารู้จักการนำน้ำยางจากต้นยางพารามาใช้ประโยชน์ เริ่มที่ชนพื้นเมืองในอเมริกากลางและอเมริกาใต้ นำน้ำยางมาประดิษฐ์เป็นภาชนะ  เครื่องมือเครื่องใช้และอุปกรณ์กีฬา  และเมื่อชาวยุโรปเดินทางไปถึงทวีปอเมริกา จึงได้รู้จักการนำน้ำยางมาผ่านกระบวนการแปรรูปต่าง ๆ  เพื่อใช้ประโยชน์จนแพร่หลายไปทั่วโลก

ทุกวันนี้  เราสามารถแบ่งยุคสมัยของการนำยางมาแปรรูปเพื่อใช้ประโยชน์เป็น  2  ช่วง ด้วยกัน คือ

ยุคก่อนการค้นพบการวัลคาไนเซชั่น 
การนำยางมาแปรรูปเพื่อใช้ประโยชน์ในยุคนี้  เป็นการนำยางที่อยู่ในรูปน้ำยางสด  หรือยางดิบ  มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องการ  โดยไม่ผ่านระบบการปรับปรุงคุณสมบัติของยางด้วยสารเคมีต่างๆ เลย  การนำยางดิบมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ในลักษณะนี้  มีข้อเสียที่เห็นชัด คือ  เมื่อเจอแสงแดดจะเหนียวเหนอะหนะ  ขณะในหน้าหนาวยางกลับแข็งและแตกเปราะได้ง่าย  ข้อเสียเหล่านี้จึงทำให้การแปรรูปยางมีปริมาณน้อย นอกจากนั้น ต้นยางที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ก็มีผลผลิตยางเพียงพอที่จะนำไปใช้ประโยชน์ได้ ตัวอย่างของผลิตภัณฑ์  ที่เกิดจากการแปรรูปยางในยุคแรกนี้  เช่น  รองเท้ายางดิบ   ขวดใส่น้ำ   ผ้าฉาบยางกันน้ำฝน   เสื้อกันฝน  ถุงผ้าฉาบยางกันน้ำ  เป็นต้น

ยุคสมัยของการนำยางดิบมาใช้งานในลักษณะนี้  เริ่มต้นเมื่อมนุษย์เรารู้จักการใช้ประโยชน์จากยาง  และสิ้นสุดลงเมื่อมีการค้นพบกระบวนการวัลคาไนเซชั่น  เมื่อประมาณ ค.ศ.1839

ยุคหลังการค้นพบการวัลคาไนเซชั่น 
หลัง การค้นพบการวัลคาไนเซชั่นโดยบังเอิญของ ชาร์ลส์  กู๊ดเยียร์  (Charles  Goodyear) ในปี ค.ศ.1839 ได้ช่วยแก้ไขข้อเสียของยางแปรรูปที่เคยมีก่อนหน้านี้  ทำให้ยางที่ได้มีความยืดหยุ่นดี ไม่เปลี่ยนแปลงสภาพได้ง่ายเมื่อเจออุณหภูมิที่สูงเกิน ไปหรือต่ำเกินไป  จึงทำให้มีการนำยางไปแปรรูปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ มากมาย  ทำให้ปริมาณการใช้ยางเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนเกิดการขยายพื้นที่ปลูกยางไปยังพื้นที่ใหม่ๆ ทั่วโลก

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญสืบเนื่องจากผลของการค้นพบการวัลคาไนเซชั่น  ในระยะแรกมีอยู่  2  ประการด้วยกัน  คือ

  • การส่งออกรองเท้ายางดิบจากเมืองพารา  ประเทศบราซิล  ไปยังอเมริกาได้ลดจำนวนลงเรื่อยๆ  จากที่เริ่มส่งออกครั้งแรกในปี  ค.ศ.1820  และเคยส่งออกสูงสุดเมื่อปี  ค.ศ.1842  จำนวน  462,230  คู่  ก็เริ่มลดลำนวนลงจนถึงปี ค.ศ.1855  ก็ไม่มีการส่งออกอีกเลย
  •  สถิติการส่งออกยางของประเทศบราซิล  ก่อนหน้าปี ค.ศ.1840  จะมีปริมาณการส่งออกประมาณ 100 ตัน/ปี แต่เมื่อมีการค้นพบการวัลคาไนเซชั่น  ปริมาณการส่งออกยางของบราซิลก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  โดยในปี ค.ศ.1840  ส่งออกเพิมเป็น  388 ตัน/ปี, ค.ศ.1850  ส่งออก 1,467 ตัน/ปี, ค.ศ.1860 ส่งออก 2,688 ตัน/ปี

ผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการแปรรูปยาง  หลังการค้นพบการวัลคาไนเซชั่น  เช่น  ยางล้อรถ  เครื่องมือทางการแพทย์    อุปกรณ์กีฬา  เครื่องมือเครื่องใช้ภายในบ้าน   เป็นต้น

การนำน้ำยางที่กรีดจากต้นยางพารา  ไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ  สามารถจำแนกเป็น  2  ระดับ ดังนี้

  • การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ขั้นต้น  (Primary Products) เป็นการแปรรูปยางดิบหรือน้ำยางสด  เพื่อเป็นวัตถุดิบสำหรับการแปรรูปขั้นสุดท้าย  เช่น  ยางแผ่นรมควัน  น้ำยางข้น  ยางแท่ง STR  เป็นต้น
  • การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้าย  (Secondary Products/Finished Products)  เป็นการนำวัตถุดิบจากการแปรรูปขั้นต้นมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้าย  เช่น  ยางล้อรถ  ยางยืด  ถุงมือแพทย์  ท่อยาง  เป็นต้น

transform_rubber600px