ส่วนที่เป็นน้ำหรือเซรุ่ม
มี อยู่ในน้ำยางสดประมาณ  55  %  ความหนาแน่นประมาณ  1.02  กรัมต่อมิลลิลิตร  ประกอบด้วยสารในกลุ่มต่าง ๆ  แยกเป็น  3  กลุ่มด้วยกันดังนี้

กลุ่มคาร์โบไฮเดรต
เป็น สารพวกแป้งและน้ำตาลมีอยู่ในน้ำยางประมาณ 1 % น้ำตาลที่มีอยู่ส่วนใหญ่เป็นชนิดคิวบราซิทอล ( Quebrachitol )และมีน้ำตาลชนิด  กลูโคส  ซูโคส  ฟรุกโตส  ปริมาณเล็กน้อย  ซึ่งน้ำตาลเหล่านี้จะถูกแบคทีเรียที่มีอยู่ในน้ำยางใช้เป็นอาหาร  ทำให้เกิดปฎิกริยาการย่อยสลายตัวให้กรดที่มีโมเลกุลขนาดเล็ก  มีผลให้น้ำยางเกิดสูญเสียสภาพและรวมตัวกันเป็นก้อน  กรดที่เกิดขึ้นเหล่านี้เป็นกรดที่ระเหยได้ง่าย

กลุ่มโปรตีนและกรดอะมิโน
ในชั้นน้ำนี้มีโปรตีนอยู่หลายชนิด ชนิดหลักที่พบคือ Alpha globulin กับ Hevein  รวมอยู่กับสารในกลุ่มของพอลิเปปไทด์และกรดอะมิโน

  •  Alpha  globulin เป็นโปรตีนที่มี ผิวว่องไว  มีมวลโมเลกุลประมาณ  2×105  daltons  ดูดซับได้ง่ายระหว่างชั้นของอากาศและของเหลว  และระหว่างชั้นของน้ำมันกับน้ำ  โปรตีนชนิดนี้ไม่ละลายในน้ำกลั่น แต่ละลายในเกลือที่เป็นกลางและละลายในสารละลายกรดและด่าง  มีจุดไอโซอิเลคติคที่  pH  4.8  ใกล้เคียงกับอนุภาคยาง  น้ำยางสดจะเสียสภาพการเป็นคอลลอยด์ที่ pH  ซึ่ง  Alpha  globulin  ละลายได้น้อยที่สุดในตัวกลางน้ำ  ความคล้ายกันระหว่างจุดไอโซอิเลคติคของโปรตีนชนิดนี้ที่ละลาย กับอนุภาคยาง  และความคล้ายกันระหว่างสภาพคอลลอยด์ของสารทั้งสอง  ทำให้เชื่อว่าโปรตีนชนิดนี้เป็นโปรตีนสำคัญที่อยู่ที่ชั้นโปรตีนบนผิว ของอนุภาคยาง
  • Hevein เป็นโปรตีนที่มีจุดไอโซอิเลคติคที่  pH  4.5  ประกอบด้วยกำมะถันประมาณ  5  %  ดังนั้นเมื่อน้ำยางสูญเสียสภาพ โปรตีนชนิดนี้จะสลายตัวให้สารประกอบไฮโดรเจนซัลไฟด์  และสารเมอร์แคปแทน  ทำให้มีกลิ่นเหม็น  โปรตีนชนิดนี้มีผิวที่ว่องไวเล็กน้อย  ละลายในน้ำได้ทุก  pH  ไม่ตกตะกอนในน้ำเดือด   และไม่มีผลต่อสภาพคอลลอยด์ของน้ำยาง
  • พอลิเปปไทด์และกรดอะมิโน พบในส่วนของน้ำในน้ำยางสด  ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า  พอลิเปปไทด์และกรดอะมิโน เป็นตัวเริ่มต้นในการเกิดอนุภาคยาง  หรืออาจมาจากการสลายตัวของโปรตีนในน้ำยาง

ส่วนของสารอื่น ๆ  ในส่วนของน้ำ
ประกอบด้วยสารประกอบชนิดต่าง  ๆ  หลายชนิดด้วยกัน  เช่น

  • ด่างที่มีไนโตรเจนอิสระ  เช่น  choline  และ  methylamine
  • กรดอินทรีย์
  • Inorganics  anion  (  Phosphate  และ  Carbonate  )
  • โลหะอิออน  (  Potassium  ,  Magnesium  ,  Iron  ,  Sodium  และ  Copper  )
  • Thiols
  • เอนไซม์ 

 

ส่วนของลูทอยด์ (Lutoids) และสารอื่นๆ
มี สารโพลีฟีนอลอ๊อกซิเดส   ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ยางมีสีเหลือง หรือสีคล้ำ ( เมื่อสัมผัสกับออกซิเจนในอากาศ ) ในส่วนนี้จะประกอบไปด้วย

ลูทอยด์  (Lutoids)
เป็น อนุภาคค่อนข้างกลม  มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ  0.5 – 3.0 ไมโครเมตร  ห่อหุ้มด้วยเยื่อบาง ๆ ชั้นเดียว  ภายในเยื่อบาง ๆ  มีทั้งสารละลายและสารที่แขวนลอย ส่วนใหญ่ประกอบด้วยโปรตีน  สามารถเกิดการออสโมซิส  (  Osmosis  ) ได้ง่าย ดังนั้นการเติมน้ำลงในน้ำยางสด  จะทำให้ลูทอยด์บวมและแตกง่าย  ขณะที่ลูทอยด์เกิดการพองตัว จะทำให้น้ำยางมีความหนืดเพิ่มขึ้น  และเมื่อลูทอยด์แตกความหนืดก็จะลดลง

ในสภาพอากาศร้อน  อุณหภูมิที่สูงขึ้นมีผลให้ลูทอยด์แตกได้เช่นกัน  ทำให้ของเหลวภายในที่มีประจุบวก  และอิออนของโลหะ  เช่น  แคลเซียมอิออน  และ แมกนีเซียมอิออน  จะปะปนรวมกันอยู่ในเซรุ่ม ทำให้อนุภาคยางเกิดการรวมตัวกันก่อให้เกิดการอุดตันของท่อน้ำยาง  มีผลทำให้น้ำยางหยุดไหลหลังกรีด

หากเติมแอมโมเนียลงไปในน้ำยางสด จะพบว่าลูทอยด์ และสารพวกโลหะแมกนีเซียม จะรวมตัวกับแอมโมเนีย เกิดการตกตะกอนเป็นตมสีน้ำตาลและสีม่วง  ซึ่งแยกตัวออกจากเนื้อยาง และเกาะรวมกันอยู่ด้านล่างสามารถแยกออกได้  ดังสมการเคมี ด้านล่าง

MgNH4PO4

อนุภาคเฟรย์ – วิสลิ่ง  (Frey wyssling)  เป็นสารที่ไม่ใช่ยางมีปริมาณไม่มากนัก  แต่มีขนาดอนุภาคใหญ่กว่ายาง  มีความหนาแน่นน้อยกว่า  รูปร่างค่อนข้างกลม  มีผนังล้อมรอบสองชั้น  ประกอบด้วยสารเม็ดสีพวกคาโรตินอยด์  ซึ่งทำให้ยางมีสีเข้ม  สามารถรวมตัวกับแอมโมเนียและแยกตัวออกจากยางมาอยู่ในส่วนของเซรุ่ม