สารเพิ่มความเสถียรของน้ำยาง
สเตบิไลเซอร์ (Stabilizer) เป็น สารเคมีที่ใช้รักษาน้ำยางให้คงสภาพของอนุภาคเดี่ยว ๆ ที่แขวนลอยอยู่ในน้ำได้ สารเพิ่มความเสถียรของน้ำยางมีหลายชนิดด้วยกัน แนวทางการใช้ที่จะทำให้น้ำยางเกิดความเสถียร สามารถทำได้ 2 แนวทาง ดังนี้
- แนวทางแรก คือ เติมสารสเตบิไลเซอร์ เพื่อเพิ่มประจุลบให้กับอนุภาคยาง ซึ่งจะทำให้เกิดแรงผลัก หรือพลังงานผลัก ( Replusion Energy ) ระหว่างอนุภาคของน้ำยางมากขึ้น เช่น การเติมด่างลงไปในอนุภาคของยางที่เป็นประจุ ( ionic )
- แนวทางที่สอง คือ เติมสารสเตบิไลเซอร์ ที่ทำให้เกิดชั้นป้องกันขึ้นในอนุภาคยาง ( Protect Hydrated Layer ) สารชนิดนี้มีคุณสมบัติเป็น Highly hydrated material จัดเป็นสารพวกที่ไม่มีประจุ ( non – ionic )
ภาพแสดงการเพิ่มค่าความเสถียร โดยการใส่สาร stabilizer ไปห่อหุ้มอนุภาคยาง
ชนิดของสารสเตบิไลเซอร์
สารสเตบิไลเซอร์ที่ช่วยปรับความเสถียรของน้ำยางแบ่งออกเป็น 2 ระบบด้วยกัน คือ
1. ระบบ Ionic
เป็น สารสเตบิไลเซอร์ที่ละลายน้ำแล้วจะให้อนุมูล (ion) ในน้ำได้ ในระบบนี้จะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน คือ ชนิดแอนอิออน (Anionic) ซึ่งให้ประจุลบ , ชนิดแคทอิออน (Cationic) ให้ประจุบวก และชนิด Amphoteric ซึ่งให้ทั้งประจุบวกและลบขึ้นกับค่า pH
1.1 สเตบิไลเซอร์ชนิดแอนอิออน ( Anionic Stabilizer ) เป็นสารสเตบิไลเซอร์ที่ไปเกาะบนอนุภาคยางและให้ประจุลบ จะแบ่งออกเป็น 3 ชนิด ดังนี้
- สบู่กรดไขมัน ( Fatty acid soap ) ซึ่งเป็นสเตบิไลเซอร์ชนิดคาร์บอกซิเลท ( Carboxylate stabilizer ) เช่น Potassium laurate , Potassium oleate , Potassium ricenoleates ส่วนที่แตกตัวเป็นประจุลบ จะไปเกาะที่ผิวอนุภาคยาง อนุภาคยางจึงมีประจุลบเพิ่มขึ้น
- สารอินทรีย์กลุ่มซัลเฟต ( Organic Sulphates ) เช่น Sodium lauryl sulphate ประจุลบที่แตกตัวออกมา (R-SO4- ) จะไปเกาะที่ผิวอนุภาคยาง
- สารอินทรีย์กลุ่มซัลโฟเนต ( Organic Sulphonate ) เป็นสารสเตบิไลเซอร์ที่ทำให้แรงตึงผิวของน้ำลดลง และป้องกันการรวมตัวของน้ำยางได้ดี
สบู่กรดไขมัน ทำให้ยางธรรมชาติมีค่า MST ดีกว่ากลุ่มซัลเฟต และกลุ่มซัลโฟเนต แต่กลุ่มซัลเฟตและ กลุ่มซัลโฟเนตทำให้น้ำยางธรรมชาติมีความเสถียรต่อสารเคมีดีกว่าสบู่กรดไขมัน
ผลของกรดและเกลือที่มีต่อสเตบิไลเซอร์ชนิดแอนอิออน
กรดและเกลือที่ผสมในน้ำยางธรรมชาติจะมีผลทำให้สเตบิไลเซอร์ ลดหรือเพิ่มเสถียรภาพได้ดังนี้
- แอนอิออนชนิดคาร์บอกซิเลทจะรวมตัวกับไฮโดรเจนอิออน ที่ pH ต่ำกว่า 8
R-COO- + H+ –> R-COOH (ไม่ละลาย)
ดังนั้น น้ำยางจะเสียเสถียรภาพที่ pH ต่ำกว่า 8
- สเตบิไลเซอร์กลุ่มซัลเฟตจะรวมตัวกับไฮโดรเจนอิออนที่ pH ต่ำกว่า 4
R-SO4- + H+ –> R-SO4H
ดังนั้นน้ำยางจะมีสภาพเสถียรที่ pH ต่ำ จนถึงประมาณ 4
- ผลของเกลือโลหะอิออนที่มีประจุ 2+ เช่น แคลเซียมอิออน มีผลให้สเตบิไลเซอร์ชนิดคาร์บอกซิเลท ตกตะกอนดังสมการ
2RCOO- + Ca2+ –> ( RCOO )2Ca(s)
- กลุ่มซัลเฟต และกลุ่มซัลโฟเนต ไม่ตกตะกอนกับโลหะแคลเซียมอิออน ทำให้สเตบิไลเซอร์ประเภทนี้ ทนทานต่อสารเคมีหรือสารตัวเติมที่มีแคลเซียมอิออนได้ดี
1.2 สเตบิไลเซอร์ชนิดแคทอิออน (Cationic Stabilizer) เป็นสารสเตบิไลเซอร์ที่ไปเกาะบนอนุภาคยางและให้ประจุบวก มี 2 ประเภท คือ
- เกลือของ primary , secondary และ tertirary amine ได้แก่ n – dodecyl ammonium acetate
R3NHX –> R3NH+ + X-
สารในกลุ่มนี้เกิดปฎิกริยาแลกเปลี่ยนอิออนได้เฉพาะในสภาวะเป็นกรด
- Quaternary ammonium salts เป็นสารที่เกิดปฎิกริยาแลกเปลี่ยนอิออนได้ในช่วง pH ที่กว้างมาก
โดยทั่วไปไม่นิยมใช้ cationic stabilizer กับน้ำยางธรรมชาติ เพราะทำให้น้ำยางเสียสภาพได้ง่าย เนื่องจากโดยปกติน้ำยางธรรมชาติมีประจุเป็นลบ
1.3 Amphoteric Stabilizer สารพวกนี้มี 2 ขั้ว บวกหรือลบ ขึ้นอยู่กับ pH เช่น พวกโปรตีนจากต้นยางที่ละลายน้ำได้ในน้ำยางธรรมชาติ เป็นสเตบิไลเซอร์หลัก
สา รสเตบิไลเซอร์ประเภทนี้เมื่อละลายน้ำจะสามารถให้อนุมูลที่เป็นได้ทั้งบวกและ ลบ ขึ้นอยู่กับสภาพน้ำ ถ้าอยู่ในสภาวะที่เป็นด่างจะให้อนุมูลลบ ถ้าน้ำมีสภาวะเป็นกรดจะให้อนุมูลบวก ถ้าสภาวะที่ให้อนุมูลลบและบวกเท่ากัน เรียก จุดนี้ว่า Isoelectric point
2. ระบบ Non-Ionic
เป็น สเตบิไลเซอร์ที่เกิดจากการควบแน่นระหว่าง polyethylene oxide กับ fatty acid หรือ fatty alcohol หรือ phenol หรืออาจจะเป็น block copolymer ของ propylene oxide กับ ethylene oxide
ส่วน ของ polyethylene oxide เป็นส่วนที่ไม่มีประจุ น้ำยางมีความเสถียรโดยการดูดโมเลกุลของน้ำเข้าไปล้อมรอบอนุภาคยางเป็นแบบ steric effect
น้ำยางที่ใช้สาร non – ionic stabilizer มีความเสถียรต่อกรด ด่าง และเกลือเป็นอย่างดี Stabilizer ในกลุ่มนี้บางครั้งจะตกตะกอนลงมาในน้ำยางเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น จุดที่อุณหภูมิทำให้เกิดการตกตะกอนนี้เรียกว่า “Cloud point“ เมื่อตกตะกอนลงมาจะทำให้น้ำยางเสียความเสถียร
สรุปการเพิ่มความเสถียร
- เพิ่มความเสถียรทางกล ควรใช้สบู่คาร์บอกซิเลต
- เพิ่มความเสถียรโดยใช้สารเคมีหรือเกลือ ควรใช้กลุ่มซัลเฟตหรือซัลโฟเนต
- เพิ่มความเสถียรโดยใช้กรด ควรใช้ non – ionogenic