การเติมสารสเตบิไลเซอร์ลงไปในน้ำยางมากหรือน้อยเกินไป  จะส่งผลกระทบทั้งสองด้านต่อน้ำยาง  ในกรณีที่เติมสาร สเตบิไลเซอร์ลงไปน้ำยางในปริมาณที่น้อยเกินไป  จะทำให้น้ำยางสูญเสียสภาพได้ง่าย  แต่ในกรณีที่เติมสารสเตบิไลเซอร์  ลงไปในน้ำยางมากเกินไป  ผลกระทบที่เกิดกับน้ำยางจะมองเห็นไม่ชัด  และยากต่อการตรวจสอบปริมาณแท้จริงที่เติมลงไป  แต่เมื่อนำน้ำยางนั้นมาใช้ทำผลิตภัณฑ์  สารสเตบิไลเซอร์ส่วนเกินที่มีอยู่ในน้ำยาง จะส่งผลกระทบต่อกระบวนการผลิต และตัวผลิตภัณฑ์ชนิดต่าง ๆ   ดังนี้

  •  น้ำยางที่เสถียรมาก ทำให้การจับตัวของยางเกิดได้ไม่ดีในขั้นตอนการผลิต  เช่น  ถ้าทำฟองน้ำ  ฟองน้ำอาจยุบได้  ในกรณีนี้  อาจจะแก้ไขโดยใช้สเตบิไลเซอร์ชนิดแคทอิออนใส่ลงไป  เพื่อลดความเสถียรของน้ำยางลง
  • สารสเตบิไลเซอร์มักจะเป็นสารเคลือบผิว  (Surfactant)  ด้วย  ซึ่งกรณีนี้อาจจะทำให้น้ำยางมีความตึงผิวต่ำลง  อาจจะเป็นปัญหากับการผลิตผลิตภัณฑ์การจุ่ม  เช่น  ถุงมือ  เมื่อความตึงผิวของน้ำยางต่ำ  ถุงมือจะเกิดพังผืดที่บริเวณง่ามนิ้ว  และเมื่อพังผืดแตก  จะเกิดรอยเส้นบาง ๆ  ระหว่างนิ้ว
  • น้ำยางที่มีสารสเตบิไลเซอร์มากเกินไป  เมื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตที่มีการหมุนเวียน หรือถ่ายเทน้ำยาง  จะทำให้เกิดฟองอากาศในน้ำยางได้ง่าย  และเกิดขึ้นได้มาก  ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ได้มีรอยตำหนิ  เช่น  จะให้ตำหนิเป็นรอยรั่ว  (pin  hole)
  • ในการผลิตชิ้นงานจากน้ำยางแบบจุ่ม ที่มีสารสเตบิไลเซอร์มากเกินไป  น้ำยางที่เคลือบแบบพิมพ์จะไหลง่าย ทำให้เคลือบแบบพิมพ์ได้ไม่สม่ำเสมอ  ชิ้นงานที่ได้จะมีความหนาบางไม่เท่ากัน
  • สารสเตบิไลเซอร์ที่เกาะอยู่ที่ผิวอนุภาคยางมากเกินไป  ทำให้ความแข็งแรงของผลิตภัณฑ์ทั้งก่อนและหลังการทำวัลคาไนซ์ต่ำลง และผลิตภัณฑ์จะดูดความชื้นมาก ดูคล้าย ๆ  กับผิวไม่แห้ง ดังนั้นจำเป็นต้องล้างสารสเตบิไลเซอร์ออก  เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ยางมีความแข็งแรงสูงขึ้น  และผิวดูเปียกน้อย

excessive stabilizer rubberdigest