น้ำยางสดจากต้นยาง มีองค์ประกอบต่างๆ ที่หลากหลาย เช่น อนุภาคยาง , โปรตีน , ไขมัน , คาร์โบไฮเดรต , ลูทอยด์ , แร่ธาตุต่างๆ  ฯลฯ   ในส่วนของโปรตีนที่มีการตรวจสอบ พบอยู่เกือบ 300 ชนิด  คิดเป็นสัดส่วนประมาณ  1 % ของน้ำยางสด

เมื่อนำน้ำยางสดไปผ่านกระบวนการผลิตเป็นน้ำยางข้น  โปรตีนบางส่วนถูกสลัดออกไป  และบางส่วนก็ยังคงเหลืออยู่ในน้ำยางข้น  ซึ่งจะถูกนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ  อีกมากมาย ตั้งแต่ผลิตภัณฑ์สำหรับอุปโภค บริโภคทั่วไป  จนถึงวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์

การเรียนรู้เรื่องภูมิแพ้จากโปรตีนในน้ำยางธรรมชาติ

การรับรู้เรื่องภูมิแพ้จากโปรตีนในน้ำยางธรรมชาติ  เกิดขึ้นหลังการตื่นตัวที่แพร่ไปทั่วโลกของโรคเอดส์  ในช่วงปี คศ, 1985 ( พศ. 2528 )  แต่ยังไม่เป็นที่ตระหนักของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมากนัก  จนถึงประมาณปี คศ. 1990 – 1991  ซึ่งเกิดกรณีแรกที่มีการฟ้องร้องเรื่องอาการแพ้จากถุงมือยางธรรมชาติ  จึงทำให้องค์การอาหารและยาของอเมริกา  ( US. – FDA. ) เริ่มออกหนังสือแจ้งเรื่อง Latex Allergies ออกมาเป็นครั้งแรก

คศ. 1991  US. – FDA.  เริ่มตระหนักถึงเรื่อง Latex  Allergies
คศ. 1991  ในเดือนพฤษภาคม  US. – FDA. ทำหนังสือแจ้งไปยังผู้ผลิตถุงมือยาง ว่า น้ำยางธรรมชาติ อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ใช้เกิดอาการแพ้ได้
คศ. 1992  ทาง US. – FDA. เป็นผู้ดำเนินการจัดประชุมระหว่าง รัฐบาลอเมริกา , อุตสาหกรรม และสาธารณสุข เพื่อออกมาตรการบางอย่างที่จะช่วยป้องกันผู้ที่แพ้ผลิตภัณฑ์จากน้ำยางธรรมชาติ
คศ. 1993  มีรายงานการวิจัยที่ระบุถึงการแพ้ผลิตภัณฑ์จากน้ำยางธรรมชาติว่า อาจจะเกิดจากโปรตีนที่มีอยู่ในน้ำยางธรรมชาติ และสามารถละลายน้ำออกมาได้ ซึ่งโปรตีนในกลุ่มนี้จะขจัดออกได้  โดยการล้างออกในระหว่างกระบวนการผลิต

คศ. 1994  เกิดความตื่นตัวอย่างมากเกี่ยวกับการแพ้โปรตีนในน้ายาง  เหตการณ์ที่น่าสนใจ ได้แก่

  • มีผู้เสนอให้กำหนดปริมาณสูงสุดของโปรตีน  ที่อนุญาตให้มีในผลิตภัณฑ์ยาง
  • มีการเสนอให้ผลิตภัณฑ์ที่มาจากน้ำยางธรรมชาติ จะต้องมีป้ายระบุอย่างชัดเจน
  • เป็นช่วงเวลา ที่หลายฝ่ายกำลังนำเสนอวิธีการหาปริมาณโปรตีนที่เหมาะสม และเที่ยงตรง
  • ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์จากน้ำยางธรรมชาติ เริ่มปรับปรุงกระบวนการผลิต ให้มีการขจัดโปรตีนออกจากผลิตภัณฑ์ให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้
  • มีรายงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องโปรตีนในน้ำยางธรรมชาติ กล่าวถึงการวัดปริมาณโปรตีนทั้งหมดในน้ำยางธรรมชาติ ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่า จะทำให้คนแพ้หรือไม่แพ้
  • เริ่มมีการนำน้ำยางสังเคราะห์ มาทดแทนน้ำยางธรรมชาติ ในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ

คศ. 1995  มีรายงานการศึกษาการแพ้ยาง ซึ่งเกิดจากการสูดดม  ทำให้ผู้ใช้ผลิตภัณฑ์จากน้ำยางธรรมชาติ เรียกร้องให้กำหนดปริมาณโปรตีนในผลิตภัณฑ์จากน้ำยางธรรมชาติ
คศ. 1996  มีรายงานจากสาธารณสุขของสวีเดน  รายงานว่า บุคลากรทางการแพทย์ของสวีเดนประมาณ 5 – 17 %  เป็นโรคภูมิแพ้โปรตีน  และมีรายงานการแพ้จากหลายพื้นที่ในยุโรปและอเมริกา ซึ่งน่าจะมีสาเหตุมาจากการสูดดมฝุ่นแป้งที่ใช้เป็นสารหล่อลื่นในผลิตภัณฑ์จากน้ำยางธรรมชาติ

คศ. 1997  เป็นปีที่สำคัญสำหรับผู้ผลิตผลิตภัณฑ์จากน้ำยางธรรมชาติ ซึ่งจะต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดในสภาวะที่ถูกบีบจากทุกฝ่ายรอบด้าน  โดยเฉพาะผู้ผลิตถุงมือยางทางการแพทย์  ที่มีอัตราการใช้งานขยายตัวปีละมากกว่า  8 %  มาอย่างต่อเนื่อง  เหตุการณ์สำคัญ ๆ ที่ส่งผลกระทบในปีนี้ได้แก่

  • หลายรัฐในอเมริกา ออกกฎหมายห้ามใช้ถุงมือตรวจโรคชนิดมีแป้ง เพราะพบว่าแป้งที่ใช้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้ใช้เกิดอาการแพ้ได้
  • ตัวแทนสหภาพแรงงานของสถานพยาบาลในอเมริกา ออกมาเรียกร้องให้ใช้ถุงมือยางสังเคราะห์แทนถุงมือยางธรรมชาติ โดยอ้างว่านอกจากจะมีอาการแพ้โปรตีนแล้ว ยังมีอาการโรคผิวหนัง และหอบหืดด้วย
  • ผู้ผลิตถุงมือยางทั่วโลก ประมาณ 150 ราย ถูกฟ้องร้องจากอาการแพ้
  • – FDA. ออกกฎให้พิมพ์คำเตือนข้างกล่อง สำหรับถุงมือยางตรวจโรค รักษาโรค
  • โรงงานผู้ผลิต ต้องเพิ่มการลงทุนเพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิต  เพื่อตอบสนองความต้องการถุงมือที่โปรตีนต่ำและไร้แป้ง  ซึ่งจะลดความเสี่ยงจากการถูกฟ้องร้องลง
  • โรงงานผู้ผลิตหลายแห่งที่ไม่สามารถปรับปรุงกระบวนการผลิต ได้ปิดตัวลงเป็นจำนวนมาก

คศ. 1998  ผู้เสียหายรายหนึ่งที่เป็นพยาบาล ชนะคดีที่ฟ้องร้องบริษัทฯ ว่า ละเลยการเอาโปรตีนออกจากถุงมือ ทำให้เธอต้องแพ้ จนต้องเข้าโรงพยาบาล
คศ.  1999  ในขณะที่กลุ่มผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ยาง  พยายามออกกฎเกณฑ์เพื่อให้ผู้ผลิตต้องกำจัดโปรตีนออกจากผลิตภัณฑ์ยาง   ทางด้านผู้ผลิตเอง ก็พยายามออกมาตรฐานการผลิตของตนเองเพื่อปกป้อง อุตสาหกรรมของตนเอง เช่น มาเลเซีย ซึ่งเตรียมออก SMG : Standard Malaysian Glove  นอกจากนี้เริ่มมีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า ในผลิตภัณฑ์ยางที่มีค่าโปรตีนต่ำ สำหรับผู้แพ้บางรายก็ยังคงแสดงอาการแพ้อยู่

หลังปี คศ. 2000 เป็นต้นมา  ทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้ผลิตภัณฑ์จากน้ำยางธรรมชาติ  มีความร่วมมือกันมากขึ้นเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ปลอดภัยในการใช้งาน  โดยในส่วนของผู้ผลิตเอง ได้พัฒนารูปแบบกระบวนการผลิตให้สามารถลดปริมาณโปรตีนที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์ให้น้อยลง  นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่ให้ความรู้ด้านโปรตีนที่มีอยู่ในน้ำยางธรรมชาติมากขึ้นเรื่อย ๆ

แนวทางการลดปริมาณโปรตีนในผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติ

วิธีการลดหรือควบคุมปริมาณโปรตีนที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์ยางสามารถทำได้หลากหลายวิธี  จัดเป็นกลุ่มหลัก ๆ ตามวิธีการได้  3  รูปแบบด้วยกัน  คือ

  • รูปแบบแรก ใช้วิธีควบคุมปริมาณโปรตีนตั้งแต่เริ่มต้นในสูตรการผสมยาง
  • รูปแบบที่สอง ใช้วิธีขจัดออกจากผลิตภัณฑ์ในระหว่างการผลิต
  • รูปแบบที่สาม นำผลิตภัณฑ์ไปผ่านกระบวนเคลือบป้องกันไม่ให้โปรตีนผ่านออกมาด้านนอก

รูปแบบการควบคุมปริมาณโปรตีนในสูตรตั้งต้น

การควบคุมปริมาณโปรตีนในสูตรตั้งต้น  ทำได้ 2 แนวทางหลักด้วยกัน คือ

  1. เลือกใช้น้ำยางข้นที่มีโปรตีนต่ำ เช่น  การนำน้ำยางข้นที่ผ่านกระบวนการผลิตแบบ  double centrifuge   มาใช้งาน  การเลือกใช้น้ำยางข้นโปรตีนต่ำ มีข้อควรระวัง คือ
  • ความเสถียรของน้ำยาง
  • ปัญหาในกระบวนการผลิต โดยเฉพาะในขั้นตอนการขึ้นรูป และการวัลคาไนซ์
  • ต้นทุนในการผลิตที่เพิ่มขึ้น
  • ฯลฯ
  1. ปรับลดปริมาณเนื้อยางที่มีอยู่ในสูตร เพื่อลดการใช้น้ำยางโดยตรง  ทำให้ปริมาณโปรตีนที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์ลดลงตามปริมาณเนื้อยางที่ลดลงด้วย  แนวทางการลดโปรตีนด้วยวิธีนี้  มีหลายวิธีด้วยกัน เช่น
  • ลดน้ำหนัก หรือขนาดของผลิตภัณฑ์ ทำให้ปริมาณเนื้อยางในผลิตภัณฑ์ลดลงโดยตรง
  • เติมสารในกลุ่ม filler ลงไปในสูตรตั้งต้น เพื่อทดแทนเนื้อยางในสูตร
  • เติมสารในกลุ่ม filler บางชนิดที่ทดแทนเนื้อยาง และสามารถดูดซับโปรตีนได้

รูปแบบการขจัดปริมาณโปรตีนออกจากผลิตภัณฑ์

การขจัดปริมาณโปรตีนออกจากผลิตภัณฑ์  โดยทั่วไปใช้อยู่  2 แนวทางด้วยกัน คือ

  1. ทำลายโปรตีนในผลิตภัณฑ์ โดยการใช้กรด หรือด่าง  การเลือกใช้วิธีนี้ต้องระมัดระวังการเสื่อมสมบัติทางกายภาพของผลิตภัณฑ์ ที่เกิดจากการล้างกรด หรือด่างออกไม่หมด
  2. ล้างโปรตีนที่ผิวของผลิตภัณฑ์ (Leaching) โดยน้ำสะอาด สามารถทำได้ใน 2 ขั้นตอนการผลิต คือ
  • Wet Leaching เป็นการล้างในขณะที่ผลิตภัณฑ์ยังมีลักษณะเป็นฟิล์มเปียกอยู่
  • Dry Leaching เป็นการล้างในระหว่างการทำวัลคาไนซ์ ซึ่งเป็นฟิล์มยางที่แห้ง แต่ยังวัลคาไนซ์ไม่สมบูรณ์

รูปแบบการป้องกันไม่ให้โปรตีนออกจากผลิตภัณฑ์

การป้องกันไม่ให้โปรตีนออกจากผลิตภัณฑ์  เป็นการนำผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติที่เสร็จแล้ว ไปเคลือบปิดผิวด้วยสารที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมในการป้องกันโปรตีนผ่านออกมา โดยทั่วไปจะใช้โพลิเมอร์ชนิดต่าง ๆ เมื่อเคลือบแล้ว สมบัติของชั้นที่เคลือบควรเป็นดังนี้

  • ยังใช้งานผลิตภัณฑ์ได้ง่ายและสะดวก
  • ไม่เกิดการแยกชั้นกับยาง
  • มีระดับโปรตีนต่ำ
  • มีสีใกล้เคียงกับสีของผลิตภัณฑ์เดิม
  • มีอายุการเก็บ ใกล้เคียงกับอายุของผลิตภัณฑ์เดิม

บทความข้างต้น เรียบเรียงและเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เขียน ห้ามเผยแพร่ ทำซ้ำ หรือดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรทุกกรณี