เส้นทางยางพาราในประเทศไทย
ปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้ผลิต และส่งออกยางพารามากที่สุดในโลก เป็นพืชเศรษฐกิจที่ทำรายได้ให้ประเทศ และมีบทบาทต่อชีวิตของเกษตรกรไทยนับล้านครอบครัว มีจุดเริ่มต้นจากทางภาคใต้ของประเทศ ในสมัยที่พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง) ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองตรัง ได้ทดลองนำยางพาราเข้ามาปลูกในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2442 – 2444 หลังจากนั้น พระสถลสถานพิทักษ์ ( คออยู่เกี๊ยด ณ ระนอง ) ได้นำเมล็ดยางกลับมาจากอินโดนีเซีย มาเพาะพันธ์และขยายจนมีพื้นทีปลูกประมาณ 45 ไร่ จึงนับเป็นสวนยางแห่งแรกของประเทศไทย
หลังจากมีการสร้างสวนยางขึ้นมา แล้ว ทางพระยารัษฎานุประดิษฐ์ ได้เร่งสอนวิธีปลูกยาง ทำสวนยาง และแจกจ่ายเมล็ดพันธ์ยาง ผ่านนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ไปยังชาวบ้านในจังหวัดตรัง จนเป็นที่รู้จักกันในนาม “ต้นยางเทศา“
หลัก ไมล์แรกของยางพาราใน ประเทศไทย เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ.2442 และในช่วงเวลาร้อยกว่าปีที่ผ่านมา เส้นทางของยางพาราในประเทศไทยได้ก้าวหน้าไปตามลำดับ ดังนี้
พ.ศ.2451 หลวงราชไมตรี (ปูม ปุณศรี) ได้เริ่มนำพันธ์ยางไปปลูกทางภาคตะวันออกของประเทศไทย โดยเริ่มที่จังหวัดจันทบุรีเป็นจังหวัดแรก จนแพร่หลายไปทั่วภาคตะวันออก
พ.ศ.2490 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และหลังสงครามโลก ราคายางพุ่งขึ้นสูงมาก จนสร้างความมั่งคั่งร่ำรวยให้กับชาวสวนยางมากมาย ในยุคนี้เรียกกันว่าเป็น “ยุคตื่นยาง“ ของประเทศไทย
พ.ศ.2503 มีการจัดตั้งกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย. : ORRAF) ตามพระราชบัญญัติกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2503 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางให้มีรายได้เพิ่มขึ้นโดยการปลูกแทนยางเก่า ที่ให้ผลผลิตน้อย ด้วยยางพันธ์ดี หรือไม้ยืนต้นอื่นที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ
พ.ศ.2521 เริ่มมีการนำยางไปทดลองปลูกในพื้นที่ใหม่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น จังหวัดหนองคาย จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดสุรินทร์
พ.ศ.2533 ประเทศไทยมีผลผลิตยางพาราแซงหน้าอินโดนีเซีย ขึ้นไปเป็นผู้ผลิตยางธรรมชาติลำดับที่ 2 ของโลก รองจากประเทศมาเลเซีย
พ.ศ.2534 ประเทศไทยมีผลผลิตยางธรรมชาติเป็นลำดับที่ 1 ของโลกแทนมาเลเซีย โดยมีอินโดนีเซีย เป็นลำดับที่ 3
พ.ศ.2545 พื้นที่ปลูกยางพาราในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 400,000 ไร่
พ.ศ.2546 เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดทำโครงการปลูกยางเพื่อยกระดับรายได้และความมั่นคงให้เกษตรกรในแหล่งปลูก ยางใหม่ระยะที่ 1 (ปี พ.ศ. 2547 – 2549) มีเป้าหมาย 1 ล้านไร่
จาก จุดเริ่มต้น ที่ต้นยางเทศาของพระยารัษฎานุประดิษฐ์ จนถึงปัจจุบัน มีประชากรในประเทศไทยเป็นผู้ดำรงชีพในอุตสาหกรรมยาง ตั้งแต่ชาวสวนยาง ผู้ประกอบการซื้อขายยาง โรงงานผลิตต่าง ๆ เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 15 % ของประชากรในประเทศ เป็นสินค้าส่งออกที่นำเงินเข้าประเทศปีละหลายแสนล้านบาท ดังนั้น ทางคณะรัฐมนตรีได้เห็นความสำคัญ จึงได้มีมติกำหนดให้วันที่ 10 เมษายน ของทุกปีเป็น วันยางพาราแห่งชาติ เพื่อให้รำลึกถึงพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี