ส่วนประกอบของน้ำยาง
น้ำยางสดที่ได้จากต้นยางทั่วไปเป็นสารที่ไม่บริสุทธ์ มีส่วนประกอบที่มีความแปรปรวนสูง สืบเนื่องจากสาเหตุหลายประการ ดังได้กล่าวมาแล้ว แต่โดยทั่วไปน้ำยางสดมีปริมาณเนื้อยางแห้งอยู่ระหว่าง 25 – 45 % มีความแตกต่างระหว่างปริมาณสารที่เป็นของแข็งทั้งหมด (Total Solid Contents : TSC.) กับส่วนที่เป็นเนื้อยางแห้ง (Dry Rubber Contents : DRC.) อยู่ประมาณ 3 % และมีส่วนประกอบต่าง ๆ ดังแสดงในตาราง
ถ้านำน้ำยางสดมาปั่นด้วยเครื่องปั่นความเร็วสูงถึง 20,000 รอบ / นาที จะทำให้ส่วนประกอบต่าง ๆ ในน้ำยางแยกออกเป็นชั้น ๆ ได้ 4 ส่วนด้วยกัน ได้แก่
- ชั้นบนสุด เป็นส่วนของเนื้อยางแห้งมีอยู่ประมาณ 35 % ลักษณะเป็นครีมสีขาว ส่วนใหญ่เป็นอนุภาคของยาง แต่อาจมี โปรตีน , ไขมัน หรืออนุมูลของโลหะ เจือปนอยู่บ้างเล็กน้อย
- ชั้นถัดมาที่ติดกับเนื้อยาง เป็นอนุภาคเฟรย์ – วิสลิ่ง (Frey Wyssling) มีสีเหลืองกว่าอนุภาคยาง จะมีอยู่ประมาณ 2 %
- ชั้น ที่สาม เป็นเซรุ่ม (Serum) เป็นสีเหลืองใส มีอยู่ประมาณ 48 % ประกอบไปด้วย คาร์โบไฮเดรต , โปรตีน , สารประกอบของกรดนิวคลีอิค , อนุมูลของโลหะ และ อนินทรีย์สาร
- ชั้นล่างสุด เป็นตะกอนสีเหลือง สีน้ำตาล หรือสีขาว มีอยู่ประมาณ 15 % เป็นสารพวกลูทอยด์ (Lutoids) , โลหะหนักพวกแมกนีเซียม ฟอสฟอรัส และขี้เถ้า
ถ้านำเอาเฉพาะอนุภาคของเม็ดยางมาวิเคราะห์จะพบว่า อนุภาคเม็ดยางมีส่วนประกอบต่าง ๆ โดยประมาณดังตาราง
ส่วนประกอบต่าง ๆ ในน้ำยางสด จึงสามารถแยกออกเป็นองค์ประกอบใหญ่ 2 ส่วนด้วยกัน คือ ส่วนที่เป็นเนื้อยาง และส่วนที่ไม่ใช่ยาง