ในธรรมชาติมีพืชมากมายเป็นพันชนิดที่ให้น้ำยางได้  (rubber  bearing  plant)  แต่น้ำยางที่ได้จากต้นยางแต่ละชนิดจะมีคุณสมบัติที่แตกต่างกันไป  บางชนิดไม่สามารถใช้ประโยชน์จากน้ำยางได้เลย  แต่ยางหลายชนิดก็ให้น้ำยางที่มนุษย์นำมาใช้ประโยชน์ได้  เช่น

  • ยางกัตตาเปอร์ซา  ได้จากต้นกัตตา  (Gutta tree)  ใช้ทำสายไฟฟ้า และใช้เป็นวัสดุทันตกรรม
  • ยางจากต้น  Achas  Sapota  ในอเมริกากลาง  คนพื้นเมืองเรียกว่า “ ชิเคิล “  (Chicle)  มีผู้นำมาทำเป็นหมากฝรั่ง  ที่เรียกว่า  Chiclets

ต้นยางธรรมชาติที่มนุษย์นำน้ำยางมาใช้ประโยชน์มากที่สุด  เป็นต้นยางที่มีถิ่นกำเนิดในแถบอเมริกาใต้  เป็นยางพันธ์  Hevea  brasiliensis  ซึ่งมีคุณภาพดีกว่ายางในตระกูล  Hevea  ด้วยกันมาก  ยางธรรมชาติชนิดนี้เรียกชื่อทั่วไปว่า  “ ยางพารา “  เนื่องจากในระยะแรกศูนย์กลางการซื้อขายยางชนิดนี้อยู่ที่เมืองท่าชื่อ “พารา“ (Para)  บนฝั่งแม่น้ำอะเมซอน  ประเทศบราซิล  จึงเรียกยางชนิดนี้กันติดปากว่า  “ยางพารา“

hevea_brasill1

ต้นยางพารา  (Hevea  brasiliensis)  เป็นต้นไม้ยืนต้น มีใบเลี้ยงคู่  สามารถมีอายุยืนยาวได้หลายร้อยปี  เป็นพืชพื้นเมือง มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อน  ฝนตกชุก แถบลุ่มน้ำอเมซอน  ในเขตพื้นที่อเมริกาใต้บริเวณประเทศบราซิล , เปรู  ขึ้นไปถึงส่วนของอเมริกากลาง  ต่อมาเมื่อมีความต้องการใช้ยางเพิ่มมากขึ้น  จึงได้มีการขยายพื้นที่เพาะปลูกยางพารา จนกระจายไปทั่วโลกโดยเฉพาะบริเวณรอบเส้นศูนย์สูตร (Green  Belt)  ทั้งในทวีปเอเชียและแอฟริกา  ที่มีภูมิอากาศใกล้เคียงกับถิ่นกำเนิดเดิม

คุณสมบัติพิเศษของยางธรรมชาติที่มนุษย์นำมาใช้ประโยชน์มากที่สุด  คือ เรื่องความยืดหยุ่น  (Elastic)  กันน้ำได้  เป็นฉนวนกันไฟฟ้าได้  เก็บและพองลมได้ดี  คุณสมบัติต่าง ๆ  เหล่านี้ทำให้มนุษย์ยังใช้ยางธรรมชาติต่อไปอีกนาน  ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีการผลิตยางเทียมได้แล้วก็ตาม  แต่คุณสมบัติบางอย่างของยางเทียม  ก็ยังสู้ยางธรรมชาติไม่ได้

สำหรับการปลูกยางพาราให้สมบูรณ์  เจริญเติบโตดี  ให้ผลผลิตที่สูงและสม่ำเสมอ  พื้นที่ปลูกและสภาพแวดล้อมเป็นปัจจัยที่ส่งผลสำคัญมาก ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่ออัตราการเจริญเติบโต และ อัตราการให้ผลผลิต ได้แก่

  • ระดับความสูงของพื้นที่ที่ปลูก  โดยปกติยางพาราจะเจริญเติบโตได้ดีบนพื้นราบ  แต่ถ้าปลูกบนพื้นที่สูง  ไม่ควรปลูกบนพื้นที่ที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล เกิน  600 เมตร
  • อุณหภูมิ  ระดับอุณหภูมิที่เหมาะสมประมาณ  25 – 28  องศาเซลเซียส  แต่ปัจจุบันมีการนำไปปลูกในพื้นที่ที่มีระดับอุณหภูมิต่ำกว่า  20  องศาเซลเซียส  ซึ่งมีผลให้ต้นยางพาราเจริญเติบโตช้ากว่า
  • ความชื้นสัมพัทธ์  พื้นที่ที่มีความชื้นสัมพัทธ์ประมาณ  65 – 90 %  เป็นระดับความชื้นสัมพัทธ์ที่เหมาะสม
  • ความลาดเอียงของพื้นที่  พื้นที่ที่เหมาะสมไม่ควรลาดเอียงเกิน  35  องศา  ถ้าลาดเอียงเกิน 15  องศา ควรทำขั้นบันได
  • สภาพดิน  ควรมีหน้าดินที่ลึกไม่น้อยกว่า  1  เมตร  เป็นดินที่มีลักษณะดินเหนียว  ดินร่วนหรือดินร่วนปนเหนียว  สภาพพื้นที่ควรมีการระบายน้ำและการถ่ายเทอากาศได้ดี   นอกจากนี้ควรมีอินทรียวัตถุค่อนข้างสูง มีค่า pH ประมาณ 4.0 – 5.5
  • ปริมาณน้ำฝนในพื้นที่  ควรเป็นพื้นที่ที่มีฝนตกสม่ำเสมอ  โดยปกติควรมีปริมาณน้ำฝนไม่ต่ำกว่า  1,250  มิลลิเมตร / ปี  และมีจำนวนวันฝนตก  120 – 150  วัน  / ปี
  • กระแสลม  กระแสลมที่มีความเร็วเฉลี่ยมากกว่า  1.0  เมตร / วินาที  จะส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโตของต้นยาง และการไหลของน้ำยาง