ที่มาของน้ำยางสด
น้ำยางธรรมชาติ หรือน้ำยางสดที่ได้จากต้นยางธรรมชาติมีเนื้อยางแห้งโดยเฉลี่ยเพียง 35 % ส่วนประกอบอื่น ๆ มีน้ำเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้น้ำยางสดจากต้นยางแต่ละต้น และแต่ละพื้นที่ มีคุณภาพที่แตกต่างกัน และยังเสียสภาพได้ง่าย
ดังนั้นการนำน้ำยางไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์ชนิดต่าง ๆ ต้องมีกระบวนการแปรรูปยางขั้นต้น เพื่อทำให้คุณภาพของยางที่จะนำไปใช้งานมีความสม่ำเสมอมากขึ้น เช่น การทำให้น้ำยางมีเนื้อยางแห้ง เพิ่มเป็นประมาณ 60 % ที่เรียกกันว่า น้ำยางข้น ( Concentrated latex ) ซึ่งจะมีคุณภาพสม่ำเสมอมากกว่าน้ำยางสด , ทำให้ง่ายต่อการขนส่งและประหยัดต้นทุนในการขนส่ง หรือการจับตัวด้วยกรดเพื่อรีดเป็นยางแผ่นแล้วนำไปผ่านการรมควัน ที่เรียกว่า ยางแผ่นรมควัน เป็นต้น
น้ำยางสดเป็นส่วนของไซโตพลาสซึม (Cytoplasm : ส่วนที่อยู่ภายในผนังเซล แต่อยู่นอกนิวเคลียส ) ที่อยู่ภายในท่อน้ำยางของต้นยาง โดยปกติจะใช้วิธีกรีดด้วยมีด หรือเจาะเข้าไปให้ตัดขาดท่อน้ำยางที่มีรูปร่างค่อนข้างกลมเรียงอยู่รอบแกน ของลำต้น เมื่อท่อเหล่านี้ถูกตัดขาด น้ำยางก็จะไหลออกมาสู่ภายนอก
ท่อน้ำยาง : มีลักษณะเป็นท่อที่เกิดจากเซลล์ต่อกัน ส่วนปลายของแต่ละเซลล์ทะลุถึงกัน เรียงเป็นแนวยาวเชื่อมติดกันหลาย ๆ ท่อ จนมีลักษณะเชื่อมโยงกันเป็นตาข่าย โดยทั่วไปมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางวงใน 20 ไมโครเมตร มีผนังหนา 5 – 7 ไมโครเมตร
ท่อน้ำยางส่วนใหญ่อยู่บริเวณเปลือกชั้นในของลำต้นบริเวณ ใกล้เนื้อเยื่อเจริญ และมีจำนวนลดลงบริเวณเปลือกชั้นนอก ต้นยางที่มีเปลือกหนาจะมีจำนวนท่อน้ำยางมากกว่าต้นยางที่มีเปลือกบาง และบริเวณโคนต้นยางซึ่งมีเปลือกหนากว่าด้านบน จะมีปริมาณท่อน้ำยางมากกว่า
เนื้อเยื่อเจริญ : เป็นส่วนที่อยู่ระหว่างเปลือกกับเนื้อไม้ เป็นส่วนที่สร้างความเจริญเติบโตให้แก่ต้นยาง และทำหน้าที่สร้างเปลือกใหม่งอกทดแทนเปลือกที่ถูกกรีดไปในขณะกรีดยาง ดังนั้นการกรีดยางจะต้องระมัดระวังไม่ให้บาดหรือทำลายถูกเนื้อเยื่อเจริญ การกรีดยางแต่ละครั้งจึงควรกรีดให้ห่างจากเนื้อเยื่อเจริญประมาณ 1 มิลลิเมตร