น้ำยางเป็นของเหลวสีขาว  ประกอบด้วยอนุภาคยางกระจายอยู่ในตัวกลางที่เป็นน้ำ   แบคทีเรียจากสิ่งแวดล้อมจะเข้าไปในน้ำยาง  เพื่อกินสารอาหารซึ่งไม่ใช่ยาง  เช่น  น้ำตาล  โปรตีน  การที่แบคทีเรียกกินสารอาหารในน้ำยาง จะเกิดการย่อยสลายให้สารซึ่งเป็นกรดที่มีโมเลกุลขนาดเล็กมีความยาวโซ่สั้น ( Short  chain fatty acid ) เป็นกรดที่ระเหยได้ง่าย  ( Volatile fatty acid )

โดยปกติน้ำยางสดจากต้นยางพารา จะคงสภาพเป็นน้ำยางได้ไม่เกิน  6  ชั่วโมง  เมื่อเก็บมาใหม่ ๆ  ค่า pH  ของน้ำยางสดมีค่าประมาณ  6.5 – 7.0  หลังจากนั้นอีกประมาณ  2  ชั่วโมง  จะเริ่มจับตัวเป็นเม็ดเล็ก ๆ  คล้ายเม็ดพริก แล้ะค่อย ๆ หนืดขึ้น  แต่เมื่อตั้งทิ้งไว้อีกระยะหนึ่ง  เช่น  12  ชั่วโมง  ค่า pH  ของน้ำยางลดลงเหลือประมาณ  5  และน้ำยางจะจับตัวเป็นก้อน  โดยน้ำยางเริ่มเกิดการบูดเน่า  และมีกลิ่นเหม็น

การ เก็บรักษาน้ำยาง จะต้องหาวิธีการที่สามารถยับยั้งทำลายจุลินทรีย์  ซึ่งในช่วงเวลาที่ชาวยุโรปรู้จักยางใหม่ ๆ  นั้น  ความรู้เกี่ยวกับจุลินทรีย์ยังมีน้อย  จนกระทั่งมาถึงสมัยของ  หลุยส์  ปาสเตอร์  (  คศ.  1822 – 1895  )  จึงมีการเผยแพร่ความรู้เรื่องของจุลินทรีย์ในอากาศอย่างกว้างขวาง  ความพยายามในการรักษาสภาพน้ำยาง  จึงเป็นการที่สามารถหาสารเคมีที่สามารถหยุดการเจริญเติบโตของเชื้อ จุลินทรีย์

แนวความคิดเรื่องการเก็บรักษาสภาพน้ำยางมีมา ตั้งแต่ช่วงคริสตศตวรรษที่ 17  คือหลังจากชาวยุโรปได้เดินทางไปยังทวีปใหม่   ทำให้ได้รู้จักกับน้ำยางจากต้นยางและการนำไปใช้ประโยชน์  เมื่อความต้องการใช้ประโยชน์จากน้ำยางแพร่หลายในยุโรป แต่การปลูกยางยังไม่แพร่หลายออกจากพื้นที่อเมริกากลางและอเมริกาใต้  ดังนั้นจึงจำเป็นต้องหาทางรักษาสภาพน้ำยางเอาไว้ในระหว่างการขนส่งข้ามทวีป ไปยังยุโรป  จนเกิดการพัฒนาระบบการเก็บรักษาน้ำยางเป็นลำดับดังนี้

คศ. 1771  :  โฟร์ครอย  ( A.F.  Fourcroy  )  ได้รายงานการค้นพบว่า  สารประเภทด่างสามารถเก็บรักษาน้ำยางสดได้  ในระยะเริ่มต้น จะใช้พวกด่างโซดาไฟ ( NaOH ) และ โปแตสเซียมไฮดรอกไซด์  ( KOH )  ทำให้การขนส่งน้ำยางไปยังที่ต่าง ๆ ได้เริ่มต้นขึ้น

คศ. 1853  :  เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการเก็บรักษาสภาพน้ำยาง เมื่อ จอห์นสัน  ( W. Johnson ) ได้พบว่าแอมโมเนียสามารถรักษาน้ำยางสดได้  แต่เริ่มมีการใช้อย่างจริงจังตั้งแต่  คศ. 1900  และใช้ต่อเนื่องมาจนถึงยุคปัจจุบัน

ตั้งแต่อดีตมาจนถึงยุค ปัจจุบัน  มีการรวบรวมการคิดค้นสารเคมีสำหรับรักษาน้ำยางเอาไว้เกือบสองร้อยชนิด  แต่ที่นำมาใช้ประโยชน์จริง ๆ  มีเพียงไม่กี่ชนิด  สาเหตุเนื่องมาจาก

  • เป็นสารเคมีที่หาได้ยาก
  • มีราคาสูงจนทำให้ต้นทุนของน้ำยางสูงขึ้นมาก
  • บางชนิดมีมีประสิทธิภาพต่ำ
  • สารเคมีบางชนิดก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้งาน
  • สารเคมีบางชนิดก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม