สารเคมีที่ใช้ในการเก็บรักษาน้ำยาง
จากความจำเป็นในการเก็บรักษาน้ำยาง เพื่อให้คงสภาพเอาไว้ได้ระยะหนึ่ง จึงมีการนำสารเคมีต่าง ๆ มาใช้ทดลองรักษาสภาพของน้ำยาง ซึ่งสารเคมีที่มีความเหมาะสมในการเก็บรักษาน้ำยางควรมีคุณสมบัติดังนี้
- สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียในน้ำยาง ที่ปนเปื้อนจากภายนอก เรียกสารที่มีคุณสมบัตินี้ว่า Bactericide
- เป็นสารเพิ่มความเสถียรของอนุภาคยาง ให้อยู่ในสภาพของคอลลอยด์ได้ โดยการเพิ่มประจุระหว่างอนุภาคยางและน้ำที่อยู่รอบ ๆ ผิวอนุภาคยาง
- สารที่เลือกใช้ควรมีสภาพเป็นด่าง เนื่องจากน้ำยางสามารถคงความเสถียรไว้ได้ดีกว่าสภาพที่เป็นกรด
- สามารถทำให้อนุมูลของโลหะหนัก ไม่ว่องไวต่อปฎิกริยา หรือเกิดการตกตะกอนเป็นเกลือที่ไม่ละลายน้ำ เช่น อนุมูลของโลหะแคลเซียมหรือแมกนีเซียม เป็นต้น
- สามารถทำปฎิกริยากับสารพวกคาร์โบไฮเดรตซึ่งมีอยู่ในน้ำยาง
- ไม่ทำให้คุณภาพของยางเปลี่ยนไปจากเดิม
- ไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้ สะดวกและปลอดภัยในการเก็บรักษาและการขนส่ง
- เป็นสารที่มีราคาถูก ไม่ทำให้ราคาน้ำยางสูงเกินไป
ชนิดของสารเคมีสำหรับการเก็บรักษาน้ำยาง
สาร เคมีสำหรับการเก็บรักษาน้ำยางโดยทั่วไปจะแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ สารเคมีสำหรับเก็บรักษาน้ำยางในระยะสั้น และสารเคมีสำหรับเก็บรักษาน้ำยางในระยะเวลานาน
- สารเคมีสำหรับเก็บรักษาน้ำยางในระยะสั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาน้ำยางให้คงสภาพในช่วงเวลาไม่นาน ประมาณ 2 – 3 วันเท่านั้น ก่อนที่จะนำน้ำยางนั้น มาแปรรูปเป็นยางแห้ง หรือน้ำยางข้น เรียกสารเคมีในกลุ่มนี้ว่า สารป้องกันการจับตัว ( Anticoagulant ) เช่น แอมโมเนีย โซเดียมซัลไฟด์ ฟอร์มาลดีไฮด์ เป็นต้น
- สารเคมีสำหรับเก็บรักษาน้ำยางเป็นเวลานาน มีวัตถุประสงค์เพื่อเก็บรักษาน้ำยางที่ผ่านกระบวนการผลิตเป็นน้ำยางข้น ไม่ให้เกิดการเสียสภาพ เมื่อลำเลียงน้ำยางข้นไปเป็นระยะทางไกล ๆ หรือจัดเก็บไว้ในสต๊อคนาน ๆ สารเคมีในกลุ่มนี้เรียกว่า สารรักษาสภาพน้ำยาง (Preservatives) เช่น แอมโมเนีย และการใช้แอมโมเนียร่วมกับสารเคมีอื่น ซึ่งสารที่ใช้ร่วมนี้จะเรียกว่า Secondary Preservative เช่น ซิงค์ออกไซด์ เตตระเมทธิลไทยูแรมไดซัลไฟด์ กรดบอริค เป็นต้น