การทำยางแผ่นดิบในลักษณะนี้  เป็นวิธีแรกที่ชาวสวนยางทั่วไปใช้กันมานาน  ปัจจุบันชาวสวนยางที่ไม่มีการรวมกลุ่มกันทำยางแผ่นดิบ ก็ยังคงใช้วิธีนี้อยู่  ลักษณะเด่นของวิธีนี้คือ  รูปแบบการผลิตยางแผ่นดิบและยางแผ่นดิบที่ได้  จะมีลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละสวนยางนั้น ๆ  แต่ก็ยังมีลำดับขั้นตอนการผลิตที่คล้ายคลึงกันเป็นลำดับ  ได้แก่

ขั้นตอนการเตรียมความพร้อม ( เชิงเดี่ยว )

ก่อนเริ่มการผลิตควรตรวจสอบความพร้อมในด้านต่าง ๆ  ดังนี้

1. ความพร้อมของอาคารสถานที่  :  ควรมีอาคารโรงเรือน หรือเพิงแบบง่าย ๆ  ที่มีลักษณะโปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก  มีการรักษาความสะอาด  บริเวณพื้นอย่างน้อยควรเป็นพื้นเทคอนกรีต

2. ความพร้อมของอุปกรณ์ต่าง ๆ  :  ก่อนทำการผลิตควรจัดหาและตรวจสอบอุปกรณ์ต่าง ๆ  ที่จำเป็น  ให้มีสภาพพร้อมที่จะใช้งาน  อุปกรณ์หรือเครื่องมือที่จำเป็นในการทำยางแผ่น ได้แก่

  • อุปกรณ์ที่ใช้ในการกรองน้ำยาง
  • ตะกง
  • ถังสำหรับใส่น้ำยาง และน้ำสะอาด
  • โต๊ะสำหรับนวดยาง หรือ พื้นลานที่ใช้นวดยาง
  • เครื่องรีดยางชนิดต่าง ๆ
  • กระป๋องสำหรับตวงปริมาตรของเหลว
  • ภาชนะสำหรับผสมน้ำกรด
  • ใบพายสำหรับกวนน้ำยาง และ แผ่นกวาดฟอง
  • ราวสำหรับตากแผ่นยาง

3. การเตรียมความพร้อมของสารเคมี หรือวัตถุดิบที่จะนำมาใช้ในการผลิต  :  สารเคมีหรือวัตถุดิบที่จำเป็นจะต้องนำมาใช้ในการผลิตควรถูกเตรียมให้พร้อมใช้งาน  ได้แก่

  • น้ำ  ควรเตรียมให้มีปริมาตรเพียงพอกับการใช้งาน  และเป็นน้ำสะอาด
  • กรด  ควรถูกเตรียมให้พร้อมใช้งาน  มีสัดส่วนการผสมที่ถูกต้อง  และมีปริมาตรเพียงพอต่อการใช้งาน  แต่ไม่ควรเตรียมไว้มากเกินไป
  • น้ำยางสด

 

rubbersheet-2
ขั้นตอนการทำยางแผ่นดิบ ( เชิงเดี่ยว )

เมื่อเตรียมอุปกรณ์และวัตถุดิบต่าง ๆ  พร้อมแล้ว การทำยางแผ่นดิบในลักษณะเชิงเดี่ยวจะมีลำดับดังนี้

  1. การกรองน้ำยาง  เพื่อเอาสิ่งสกปรก  หรือสิ่งแปลกปลอมที่มีอยู่ในน้ำยางออกไป  เช่น  เปลือกไม้  ใบไม้
  2. ตวงน้ำยางใส่ในตะกงที่เตรียมไว้  ตะกงต้องอยู่ในสภาพที่สะอาดและเปียกน้ำ
  3. ผสมน้ำสะอาดลงในน้ำยางที่อยู่ในตะกงโดยทั่วไปจะให้อัตราส่วนระหว่างน้ำยางกับน้ำเป็น  3 : 2
  4. เติมน้ำกรดที่เจือจางเตรียมไว้ผสมกับน้ำยาง  แล้วใช้ใบพายกวนน้ำยางในตะกงเล็กน้อย  ( ประมาณ 6- 8  เที่ยว )
  5. กวาดฟองของน้ำยางออกจากตะกง  ฟองที่เกิดขึ้นถ้าไม่กวาดออก จะถูกกักไว้ในแผ่นยางทำให้เมื่อนำไปทำยางแผ่นรมควันแล้ว  ก็จะเห็นรอยฟองอากาศในแผ่นยาง  ทำให้ยางแผ่นรมควันที่ได้ถูกตีชั้นยางต่ำลง   ส่วนฟองของน้ำยางที่กวาดออกมา  ควรเก็บรวบรวมไว้ในภาชนะเดียวกันเพราะจะนำไปขายเป็นเศษยางได้
  6. ปล่อยไว้ให้น้ำยางจับตัว  ในช่วงเวลาที่รอให้น้ำยางจับตัว  ควรคลุมตะกงใส่น้ำยาง เพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งสกปรก  ฝุ่นละออง  หรือแมลงต่าง ๆ  ลงไปในตะกงน้ำยาง
  7. นวดแผ่นยางที่จับตัวแล้ว  เมื่อน้ำยางในตะกงจับตัวดีแล้ว  ก่อนนำออกจากตะกงควรใส่น้ำสะอาดลงไปหล่อในตะกงไว้  จะทำให้การเทยางออกจากตะกงทำได้ง่ายขึ้น  เมื่อนำยางออกจากตะกง  ต้องนวดให้ยางมีขนาดบางลงพอที่จะนำเข้าเครื่องรีดได้ง่าย  การนวดควรทำบนพื้นโต๊ะหรือพื้นคอนกรีตที่สะอาด
  8. รีดแผ่นยางด้วยเครื่องรีดแบบลื่น แผ่นยางที่ผ่านการนวดที่มีขนาดบางลง จะถูกนำเข้าผ่านเครื่องรีดแบบลื่น 4 – 5 ครั้ง จนบางลงอีกประมาณครึ่งหนึ่งของความหนาเดิม
  9. รีดแผ่นยางด้วยเครื่องรีดแบบมีดอก  แผ่นยางที่ผ่านการรีดด้วยเครื่องรีดแบบลื่น  จะถูกนำไปผ่านเครื่องรีดแบบดอกอีกครั้ง  เพื่อให้มีขนาดบางลง และลายดอกบนผิวยางจะเป็นการเพิ่มพื้นที่ผิวให้แผ่นยาง  ช่วยให้ความชื้นในแผ่นยางลดลงได้เร็วขึ้น
  10. ล้างทำความสะอาดแผ่นยาง  แผ่นยางที่ผ่านการรีดทั้ง 2 ชุดแล้ว  ต้องล้างด้วยน้ำสะอาดเพื่อชำระล้างกรดที่อาจตกค้างอยู่ที่ผิวแผ่นยาง  หรือสิ่งสกปรกอื่น ๆ  ที่ติดอยู่กับผิวของแผ่นยางออก
  11. ผึ่งแผ่นยาง  เมื่อล้างแผ่นยางด้วยน้ำสะอาดแล้ว  แผ่นยางจะถูกพาดตากอยู่บนราว  เพื่อให้ความชื้นในแผ่นยางลดลง  สิ่งที่ต้องระวังในการผึ่งแผ่นยาง คือ  แผ่นยางไม่ควรถูกแสงแดดโดยตรงเพราะจะทำให้ยางเสื่อมคุณภาพได้ง่าย  และต้องระวังเรื่องความสะอาดของแผ่นยางที่ผึ่งไว้ด้วย
  12. การเก็บรวบรวมยางแผ่นดิบ  ยางแผ่นที่ผึ่งลมเอาไว้ความชื้นจะค่อย ๆ  ลดลงตามสภาวะอากาศ  ชาวสวนที่ทำยางแผ่นด้วยวิธีนี้ จะค่อย ๆ เก็บรวบรวมยางแผ่นจนมีปริมาณมากเพียงพอ จึงจะนำไปจำหน่ายต่อไป  แต่สิ่งที่ต้องระวังในช่วงการเก็บรวบรวมยางแผ่นดิบ คือ ยางแผ่นดิบที่จัดเก็บไว้ก่อน และยังคงมีความชื้นในแผ่นยางอยู่อาจจะเกิดราขึ้นที่ผิวยางได้ง่าย

ขั้นตอนหลังการทำแผ่นแล้วเสร็จ ( เชิงเดี่ยว )

หลังจากทำยางแผ่นดิบเสร็จแล้ว  อุปกรณ์และเครื่องมือต่าง ๆ  ควรได้รับการดูแลรักษา  ดังนี้

  • ต้องทำความสะอาดอาคารโรงเรือน ที่ใช้ในการทำงานให้อยู่ในสภาพที่สะอาด
  • ต้องทำความสะอาดภาชนะต่าง ๆ  ที่ใช้งานอย่างสม่ำเสมอ
  • จัดเก็บอุปกรณ์และเครื่องมือต่าง ๆ  ให้อยู่ในสภาพพร้อมนำมาใช้งาน
  • ควรตรวจสอบการจัดเก็บน้ำกรดให้อยู่ในสถานที่ที่ปลอดภัย  รวมทั้งกรดที่คงเหลือจากการใช้งานด้วย
  • บำรุงรักษาเครื่องจักรสำหรับรีดยาง  ให้อยุ่ในสภาพพร้อมใช้งานอย่างสม่ำเสมอ