การทำยางแผ่นดิบในลักษณะนี้  เกิดจากการรวมตัวของชาวสวนยาง  ซึ่งอาจรวมตัวกันในรูปแบบกลุ่มเกษตรกร  หรือสหกรณ์ร่วมกับนโยบายของภาครัฐในช่วงปี พศ. 2537 – 2538  ที่สนับสนุนในด้านเครื่องจักร อุปกรณ์ และห้องรมควันยาง  จึงทำให้วิธีนี้เป็นที่แพร่หลายมากขึ้น  ลักษณะเด่นของวิธีนี้ คือ  สามารถผลิตได้ปริมาณมากในช่วงเวลาสั้น ๆ  ทำให้กลุ่มเกษตรกรที่ใช้วิธีนี้มีทางเลือกในการจัดการกับยางแผ่นดิบที่ได้มา มากขึ้น   การเลือกใช้วิธีจับตัวในลักษณะเชิงผสมมีลำดับขั้นตอนการผลิต ดังนี้

ขั้นตอนการเตรียมความพร้อม (การผลิตเชิงผสม )

ก่อนเริ่มการผลิตควรตรวจสอบความพร้อมในด้านต่าง ๆ  ดังนี้

1. ความพร้อมของอาคารสถานที่  :  อาคารโรงเรือนควรมีลักษณะโปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก  มีการรักษาความสะอาด  บริเวณพื้นควรเป็นพื้นเทคอนกรีต

 2. ความพร้อมของอุปกรณ์ต่าง ๆ  :  ก่อนทำการผลิตควรจัดหาและตรวจสอบอุปกรณ์ต่าง ๆ  ที่จำเป็น  ให้มีสภาพพร้อมที่จะใช้งาน  อุปกรณ์หรือเครื่องมือที่จำเป็นในการทำยางแผ่น ได้แก่

  • อุปกรณ์ที่ใช้ในการกรองน้ำยาง
  • บ่อรับน้ำยางจากชาวสวน  หรือบ่อพักน้ำยาง
  • บ่อสำหรับจับตัวน้ำยาง
  • ถังเก็บน้ำ และน้ำสะอาด
  • ท่อลำเลียงน้ำยาง
  • แผ่นสำหรับเสียบกั้นยางในบ่อจับตัว
  • บ่อสำหรับแช่ยางที่จับตัวแล้ว หน้า และหลังเครื่องรีดยาง
  • ความพร้อมของเครื่องรีดยาง
  • กระป๋องสำหรับตวงปริมาตรของเหลว
  • ภาชนะสำหรับผสมน้ำกรด
  • ใบพายสำหรับกวนน้ำยาง และ แผ่นกวาดฟอง
  • ราวสำหรับตากแผ่นยาง

3.    การเตรียมความพร้อมของสารเคมี หรือวัตถุดิบที่จะนำมาใช้ในการผลิต  :  สารเคมีหรือวัตถุดิบที่จำเป็นจะต้องนำมาใช้ในการผลิตควรถูกเตรียมให้พร้อมใช้งาน  ได้แก่

  • น้ำ  ควรเตรียมให้มีปริมาตรเพียงพอกับการใช้งาน  และเป็นน้ำสะอาด
  • กรด  ควรถูกเตรียมให้พร้อมใช้งาน  มีสัดส่วนการผสมที่ถูกต้อง  และมีปริมาตรเพียงพอต่อการใช้งาน  แต่ไม่ควรเตรียมไว้มากเกินไป
  • น้ำยางสด

 

rubbersheet-7

ขั้นตอนการทำยางแผ่นดิบ ( เชิงผสม )

เมื่อเตรียมอุปกรณ์และวัตถุดิบต่าง ๆ  พร้อมแล้ว การทำยางแผ่นดิบในลักษณะเชิงผสมจะมีลำดับดังนี้

  1. การกรองน้ำยางลงบ่อพัก  เพื่อเอาสิ่งสกปรก  หรือสิ่งแปลกปลอมที่มีอยู่ในน้ำยางออกไป  เช่น  เปลือกไม้  ใบไม้  เป็นต้น นอกจากนี้ยังเป็นจุดที่จัดเก็บตัวอย่างน้ำยางเพื่อหาปริมาณเนื้อยางที่มี อยุ่จริง ( Dry Rubber Content : DRC. )
  2. เติมน้ำสะอาดลงในบ่อจับตัว  ก่อนเติมน้ำลงไปในบ่อจับตัว  ต้องตรวจสอบการปิดท่อระบายน้ำด้านล่างของบ่อจับตัวให้อยู่ในสภาพปิดเรียบ ร้อยก่อนทุกครั้ง
  3. เติมน้ำยางลงในบ่อจับตัว  จะต้องระวังระดับความสูงของน้ำยางที่กำหนดไว้ในบ่อ  ไม่ให้มีระดับที่สูงเกินไปหรือต่ำเกินไป  เพราะจะทำให้ยางแผ่นมีขนาดไม่สม่ำเสมอ
  4. เติมน้ำกรดที่เจือจางเตรียมไว้ผสมกับน้ำยางในบ่อจับตัว  แล้วใช้ใบพายกวนน้ำยางในบ่อจับตัวเล็กน้อย
  5. กวาดฟองของน้ำยางออกจากบ่อจับตัว  ฟองที่เกิดขึ้นถ้าไม่กวาดออก จะถูกกักไว้ในแผ่นยางทำให้เมื่อนำไปทำยางแผ่นรมควันแล้ว  ก็จะเห็นรอยฟองอากาศในแผ่นยาง  ทำให้ยางแผ่นรมควันที่ได้ถูกตีชั้นยางต่ำลง   ส่วนฟองของน้ำยางที่กวาดออกมา  ควรเก็บรวบรวมไว้ในภาชนะเดียวกันเพราะจะนำไปขายเป็นเศษยางได้
  6. เสียบแผ่นกั้นลงในบ่อจับตัว  แผ่นกั้นที่นำมาใช้งาน ควรถูกเตรียมให้พร้อมโดยการแช่น้ำเอาไว้ และต้องอยู่ใกล้กับบริเวณที่ใช้งาน  เพราะถ้าเสียบแผ่นกั้นล่าช้า  จะทำงานลำบาก หรือ แผ่นยางอาจจะหนา บาง ไม่เท่ากัน
  7. ปล่อยไว้ให้น้ำยางจับตัว  ในช่วงเวลาที่กำลังรอให้น้ำยางจับตัว  ก็สามารถทำงานในบ่อจับตัวอื่น ๆ  ได้ต่อไป
  8. นำยางที่จับตัวแล้วไปแช่ในบ่อล้างยาง  เมื่อสังเกตว่ายางในบ่อจับตัวดีแล้ว  ควรเติมน้ำสะอาดลงไปในบ่อจับตัวเพิ่มเป็นการหล่อน้ำไว้บนผิวของแผ่นยาง  ก่อนถอดแผ่นกั้นขึ้นจากบ่อ  แล้วจึงนำแผ่นยางที่ได้ย้ายไปแช่ในบ่อล้างยาง เพื่อรอส่งเข้าเครื่องรีดยางต่อไป
  9. รีดแผ่นยางด้วยเครื่องรีดไฟฟ้า  แผ่นยางที่แช่ไว้ในบ่อจะถูกนำผ่านเครื่องรีดที่ประกอบด้วยลูกกลิ้งเป็นคู่ ๆ  โดยช่วงแรกจะเป็นลูกกลิ้งแบบไม่มีลาย  และลูกกลิ้งชุดหลังเป็นลูกกลิ้งแบบมีลาย  เมื่อผ่านเครื่องรีดแล้วแผ่นยางจะไหลลงในบ่อน้ำที่อยู่บริเวณด้านหน้าของ เครื่องรีดยาง
  10. ล้างทำความสะอาดแผ่นยาง  แผ่นยางที่ผ่านการรีดแล้วผ่านลงมาในบ่อด้านหน้า  จะถูกล้างด้วยน้ำสะอาดเพื่อชำระล้างกรดที่อาจตกค้างอยู่ที่ผิวแผ่นยาง  หรือสิ่งสกปรกอื่น ๆ  ที่ติดอยู่กับผิวของแผ่นยางออก
  11. ผึ่งแผ่นยาง  เมื่อล้างแผ่นยางด้วยน้ำสะอาดแล้ว  แผ่นยางจะถูกพาดตากอยู่บนราว  เพื่อให้ความชื้นในแผ่นยางลดลง  สิ่งที่ต้องระวังในการผึ่งแผ่นยาง คือ  แผ่นยางไม่ควรถูกแสงแดดโดยตรงเพราะจะทำให้ยางเสื่อมคุณภาพได้ง่าย  และต้องระวังเรื่องความสะอาดของแผ่นยางที่ผึ่งไว้ด้วย  แผ่นยางที่ผึ่งไว้ จะมีทางเลือกในการดำเนินการต่ออยู่  2 ด้าน คือ
  • ผึ่งเอาไว้แล้วเก็บรวบรวมขายเป็นยางแผ่นดิบ
  • นำเข้าห้องรมควันแล้วขายเป็นยางแผ่นรมควัน

 

ขั้นตอนหลังการทำแผ่นแล้วเสร็จ ( เชิงผสม )

หลังจากทำยางแผ่นดิบเสร็จแล้ว  อุปกรณ์และเครื่องมือต่าง ๆ  ควรได้รับการดูแลรักษา  ดังนี้

  • ต้องทำความสะอาดบริเวณสถานที่ที่ใช้ในการทำงานให้อยู่ในสภาพที่สะอาด
  • ต้องทำความสะอาดภาชนะต่าง ๆ  ที่ใช้งานอย่างสม่ำเสมอ
  • จัดเก็บอุปกรณ์และเครื่องมือต่าง ๆ  ให้อยู่ในสภาพพร้อมนำมาใช้งาน
  • ควรตรวจสอบการจัดเก็บน้ำกรดให้อยู่ในสถานที่ที่ปลอดภัย  รวมทั้งกรดที่คงเหลือจากการใช้งานด้วย
  • บำรุงรักษาเครื่องจักรสำหรับรีดยาง  และอุปกรณ์ต่าง ๆ  ให้อยุ่ในสภาพพร้อมใช้งานอย่างสม่ำเสมอ