ตั้งแต่ยุคเริ่มต้นของการเก็บรักษาน้ำยางเพื่อนำไปใช้ประโยชน์  ได้มีการทดลองรูปแบบต่าง ๆ  ในการเก็บรักษาน้ำยาง  ในที่นี้จะมุ่งเน้นรูปแบบของการเก็บรักษาน้ำยางในระยะสั้นเพื่อการนำไปแปร รูปต่อ  จนถึงปัจจุบันได้มีรูปแบบที่พัฒนามาดังนี้

1. การเก็บรักษาน้ำยางด้วยด่าง
ใน ระยะเริ่มต้นพบว่า น้ำยางสดที่ใส่ด่างโซดาไฟ  (NaOH)  สามารถเก็บรักษาน้ำยางได้  ตั้งแต่นั้นมาจึงเริ่มมีการใช้ด่างชนิดนี้ในการเก็บรักษาน้ำยาง  และเริ่มขนส่งน้ำยางสดไปนอกพื้นที่เพาะปลูก  ซึ่งในระยะเริ่มต้นด่างโซดาไฟ ดูเหมือนจะช่วยเก็บรักษาน้ำยางได้ดี  แต่พอตั้งทิ้งไว้  2 – 3  อาทิตย์  น้ำยางก็เริ่มมีอาการจับตัวเป็นก้อนเล็ก  การเก็บรักษาน้ำยางสดด้วย  NaOH  จึงไม่ประสบความสำเร็จ  เพราะน้ำยางเกิดการสูญเสียสภาพในที่สุด  ไม่ว่าจะเติมด่างชนิดนี้เพิ่มเข้าไปมากหรือน้อยก็ตาม

2. การเก็บรักษาน้ำยางด้วยแอมโมเนีย
ประมาณ ปีคศ.  1853  W.  Johnson  ได้ค้นพบว่าแอมโมเนีย สามารถรักษาสภาพน้ำยางสดได้  โดยมีสมบัติในการเป็นสารเคมีที่ใช้เก็บรักษาน้ำยางที่ดีที่สุด ได้แก่

  • แอมโมเนียจะมีฤทธิ์เป็นด่าง  ช่วยให้ประจุลบบนอนุภาคยางเป็นลบยิ่งขึ้น  จึงทำให้น้ำยางมีความเสถียรเพิ่มขึ้น
  • สามารถทำลายหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย
  • แอมโมเนียสามารถกำจัดอิออนของโลหะพวกแมกนีเซียมที่มีอยู่ในน้ำยางธรรมชาติ  ให้เกิดการตกตะกอนกลายเป็นแมกนีเซียมแอมโมเนียมฟอสเฟต
  • ไม่ทำให้คุณสมบัติของยางเสียหาย และมีราคาไม่สูงมาก

แอมโมเนียที่นำไปใช้  ควรเตรียมให้อยู่ในรูปสารละลายเข้มข้น  10 %  โดยปริมาณการใช้ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่จะเก็บรักษาน้ำยาง  ถ้าต้องการเก็บรักษาน้ำยางไว้  3 – 10  ชั่วโมง  ควรใส่แอมโมเนียปริมาณ  0.01 – 0.05  %  ต่อน้ำหนักของน้ำยาง  แต่ถ้าต้องการเก็บรักษาน้ำยางไว้นาน  1 – 2  วัน  ควรใส่แอมโมเนียปริมาณ  0.15 %  ต่อน้ำหนักน้ำยาง  ในกรณีที่ต้องการทำให้ค่า  VFA  ของน้ำยางสดอยู่ในเกณฑ์ต่ำเป็นระยะเวลานาน  ควรต้องใช้แอมโมเนียในปริมาณ  0.4  %  ขึ้นไป

3.  การเก็บรักษาน้ำยางด้วยฟอร์มัลดีไฮด์
รู้จัก กันในชื่อของ ฟอร์มาลีน  ปกติจะมีจำหน่ายในรูปสารละลาย 38 – 40  %  เวลานำไปใช้ควรเตรียมให้อยู่ในรูปสารละลาย  1 %  และต้องทำให้ฟอร์มัลดีไฮด์เป็นกลางก่อน  ด้วยโซเดียมคาร์บอเนต  โซเดียมซัลไฟด์ หรือแอมโมเนีย  สำหรับปริมาณการใช้ ขึ้นอยู่กับสภาพของต้นยางขณะกรีดยาง และการนำน้ำยางมาแปรรูป

บางครั้งมีการใช้ฟอร์มัลดีไฮด์ปริมาณเล็กน้อยร่วมกับการใช้สารเคมีอื่น  เช่น  ฟอร์มัลดีไฮด์  ร่วมกับแอมโมเนีย  ก็สามารถรักษาน้ำยางได้เช่นกัน  แต่โดยปกติแอมโมเนียและฟอร์มัลดีไฮด์  สามารถรวมตัวกัน เกิดเป็นผลึก  hexamethylene  tetramine  ดังนั้นเวลาใช้ควรใส่ทั้งสองชนิดนี้แยกกัน  โดยการใส่ฟอร์มัลดีไฮด์ลงไปในน้ำยางก่อน แล้วจึงใส่แอมโมเนีย

4.  การเก็บรักษาน้ำยางด้วยโซเดียมซัลไฟต์
Sodium Sulphite , Na2SO3 อยู่ในรูปผงสีขาวมีส่วนผสมของซัลเฟอร์ไดออกไซด์อยู่ 48 – 50 % มีฤทธิ์เป็นด่าง  ไม่เสถียรเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น ( ประมาณ 35 – 40 องศาเซลเซียส ) ดังนั้นต้องจัดเก็บไว้ในที่เย็นและแห้ง  ในภาชนะที่มีฝาปิด

การ นำไปใช้งานต้องเตรียมเป็นสารละลาย  สารละลายที่เตรียมได้จะเสื่อมสลายได้เร็ว  ดังนั้นควรเตรียมใหม่ทุกครั้งที่ใช้  และเตรียมให้ใช้ครั้งเดียวหมดไป

การ ใส่โซเดียมซัลไฟต์ลงในน้ำยางสด  จะได้ยางที่มีสีจางกว่าการไม่ใช้สารเก็บรักษาน้ำยาง หรือการใช้แอมโมเนียร่วมกับฟอร์มัลดีไฮด์  ดังนั้นจึงแนะนำให้ใช้ในการทำยางแผ่นผึ่งแห้ง หรือ ยางเครพสีจาง  มักจะไม่แนะนำให้ใช้น้ำยางสดที่เก็บรักษาด้วยโซเดียมซัลไฟต์ไปทำน้ำยางข้น  เพราะยากแก่การกำจัด เมื่อไม่ต้องการและมีปัญหาในเรื่องการเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติของค่า  KOH  number  ในน้ำยางข้น