สารเคมีที่ใช้เก็บรักษาน้ำยางสดเพื่อทำน้ำยางข้น
น้ำยางสดที่ถูกเก็บจากต้นยางจะใช้เวลาอย่างน้อย 4 – 6 ชั่วโมง จึงจะขนส่งถึงโรงงาน ดังนั้นชาวสวนยางและพ่อค้าคนกลางจะต้องมีวิธีการเก็บและรวบรวมน้ำยางที่ดี โดยเฉพาะจะต้องระวังเรื่องความสะอาด ไม่ให้มีแบคทีเรียเข้าไปในน้ำยาง และต้องทำการป้องกันน้ำยางสูญเสียสภาพโดยเร็วที่สุด ซึ่งสามารถกระทำได้โดย การใส่แอมโมเนีย หรือ การใช้แอมโมเนียร่วมกับสารเคมีอื่น ดังนี้
1. การใช้แอมโมเนียเพียงอย่างเดียว
แอมโมเนีย เป็นกาซที่ไม่มีสี มีฤทธิ์เป็นด่าง มีกลิ่นเฉพาะตัวซึ่งจะได้กลิ่นแม้มีปริมาณเพียง 50 ppm. มีความสามารถในการละลายน้ำได้ดีมาก ขณะที่ละลายน้ำจะให้ความร้อน ทำปฎิกริยาได้ง่ายกับทองแดง หรือโลหะที่มีทองแดงผสมสังกะสี นิเกิล อลูมิเนียม แต่จะไม่ทำปฎิกริยากับเหล็ก ดีบุก หรือพลาสติกแบบ PP หรือแบบ PE
แอมโมเนียขณะที่อยู่ในท่อ หรือถัง จะถูกเก็บภายใต้ความดันให้เป็นของเหลว ความดันจะสัมพันธ์กับอุณหภูมิของบรรยากาศ ไม่ขึ้นกับปริมาณของแอมโมเนียที่มีอยู่ ถังเก็บแอมโมเนียที่มีเครื่องวัดความดันติดอยู่ จะไม่ช่วยบอกปริมาณของแอมโมเนียที่มีอยู่จริง ควรจะทำการวัดปริมาณของแอมโมเนียที่มีอยู่ด้วยการชั่งน้ำหนักจะแม่นยำกว่า ดังนั้นการใช้เครื่องวัดที่แสดงน้ำหนักที่เปลี่ยนแปลงไปจะดีกว่า
การเตรียมแอมโมเนีย : การเตรียมแอมโมเนียให้เป็นสารละลายในน้ำ จะเกิดความร้อนขึ้น ซึ่งส่งผลให้แอมโมเนียจะระเหยออกจากสารละลายได้ง่าย ดังนั้นควรเตรียมด้วยอัตราการเติมแอมโมเนียที่ต่ำ เพื่อควบคุมไม่ให้ความร้อนเกิดมากเกินไป อัตราการเติมที่เหมาะสมคือจุดที่แอมโมเนียไหลออกจากท่ออย่างสม่ำเสมอ ในอัตราเร็วไม่เกิน 4 กิโลกรัม / ชั่วโมง ในกรณีที่จำเป็นต้องเติมแอมโมเนียให้เร็ว อาจจะต้องใช้ระบบหล่อเย็น เพื่อควบคุมไม่ให้อุณหภูมิสูงเกินไป
- การเก็บสารละลายแอมโมเนียที่เตรียมได้ : ควรเก็บในภาชนะปิดและเก็บในที่เย็น ไม่ควรปล่อยตากแดด เมื่อเปิดภาชนะหรือวาล์วเพื่อนำไปใช้งาน ควรจะค่อย ๆ เปิดเพื่อลดความดันก่อน
- ข้อควรระวังขณะเตรียมหรือใช้งานแอมโมเนีย : ควรระวังเรื่องแอมโมเนียไปสัมผัสกับเนื่อเยื่อที่อ่อน เช่น เยื่อในโพรงจมูก นัยน์ตา เป็นต้น จะทำให้เกิดอาการระคายเคือง ถ้าเกิดการสัมผัสแล้ว ให้ล้างด้วยน้ำในปริมาณมาก ๆ
การใช้แอมโมเนีย : การนำแอมโมเนียใส่ในน้ำยาง จำเป็นต้องใส่ในปริมาณ 0.1 % ขึ้นไป เนื่องจากหากใส่ต่ำกว่า 0.05 % จะมีผลทำให้อัตราการเจริญเติบโตของแบคทีเรียสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากแอมโมเนียในปริมาณเล็กน้อย ทำให้น้ำยางมีค่า pH เพิ่มขึ้นจาก 6.5 เป็นประมาณ 8 ซึ่งเป็นช่วงที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย
- ในทางปฎิบัติ จะมีการใส่แอมโมเนียปริมาณ 0.3 – 0.5 % ในน้ำยางสด แต่จะมีประสิทธิภาพเป็นสารฆ่าแบคทีเรีย ( Bactericide ) เมื่อใช้ในปริมาณที่มากกว่า 0.35 % การเพิ่มปริมาณของแอมโมเนียในน้ำยาง มีผลทำให้การเจริญเติบโตของแบคทีเรียในน้ำยางลดลง จึงทำให้กรดที่ระเหยง่าย ( VFA ) ซึ่งเกิดขึ้นจากแบคทีเรียย่อยสลายสารอาหารในน้ำยางมีค่าที่ต่ำ
- แอมโมเนียมีฤทธิ์เป็นด่าง การใช้แอมโมเนียจึงทำให้ค่า pH เริ่มต้นของน้ำยางเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ความหนาแน่นของประจุไฟฟ้าที่ผิวอนุภาคยาง และแรงผลักของประจุไฟฟ้าที่ผิวสัมผัสระหว่างอนุภาคยางและส่วนที่เป็นน้ำ เพิ่มมากขึ้น ทำให้ความเสถียรของน้ำยางเพิ่มขึ้น แรงผลักของประจุไฟฟ้าที่ผิวสัมผัส เชื่อว่าเกิดจากปฎิกริยาระหว่างแอมโมเนียกับโปรตีนที่ถูกดูดซับที่ผิวอนุภาค ยาง และแอมโมเนียจะเร่งการเกิดการแยกสลายด้วยน้ำของส่วนที่ไม่ใช่ยาง ทำให้เพิ่มความเสถียรของน้ำยาง
ผลข้างเคียงจากการใช้แอมโมเนีย : นอกจากการใช้แอมโมเนียใส่ในน้ำยาง เพื่อเป็นการรักษาสภาพน้ำยางแล้ว การใช้แอมโมเนียทำให้เกิดผลข้างเคียงอื่น ๆ ซึ่งอาจจะมีผลต่อน้ำยางทั้งในด้านบวกและด้านลบ ดังนี้
- การใช้แอมโมเนีย ทำให้เกิดโลหะพวกที่มีประจุบวกมากกว่าสอง ( Multivalent metal ions ) เช่น แมกนีเซียมอิออน ( Mg2+ ion ) จับตัวรวมกับฟอสเฟตอิออน ( Orthophosphate anions ) เกิดปฎิกริยาเป็นแมกนีเซียมแอมโมเนียมฟอสเฟต ( Magnesium Ammonium Phosphate ) ตกตะกอนแยกออกไป ส่งผลให้น้ำยางมีความเสถียรเพิ่มขึ้นและประสิทธิภาพในการปั่นแยกน้ำยางเพิ่ม ขึ้น
- แอมโมเนียจะทำปฎิกริยากับซิงค์ออกไซด์ เกิดเป็นสารประกอบเชิงซ้อนของซิงค์ ( Zinc compounds ) ที่ละลายได้น้อยลง ทำให้น้ำยางมีความหนืดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีอุณหภูมิสูงขึ้น
- ปริมาณแอมโมเนียที่มีสูงในน้ำยาง จะไปรบกวนการเกิดเจลในกระบวนการผลิตฟองน้ำ ทำให้ฟองน้ำที่ได้เกิดการยุบตัว
2. การใช้แอมโมเนียร่วมกับสารเคมีอื่น
แอมโมเนีย + ซิงค์ออกไซด์ ( ZnO ) + เตตระเมทธิลไทยูแรมไดซัลไฟต์ (TMTD)
การ ใช้แอมโมเนียร่วมกับ ZnO และ TMTD เริ่มมีการทดลองใช้ตั้งแต่ปี คศ. 1975 โดยใช้แอมโมเนียปริมาณ 0.2 % ร่วมกับ ZnO 0.025 % และ TMTD 0.025 % พบว่าสามารถเก็บรักษาน้ำยางได้เป็นเวลานาน แต่การนำไปใช้ต้องมีความระมัดระวัง เนื่องจาก ZnO และ TMTD ทำให้โมเลกุลของยางเกิดพันธะทางเคมีได้ และหากใส่ในปริมาณสูงเพียงพอจะทำให้น้ำยาง เกิดการจับตัวเป็นก้อนเม็ดเล็ก ๆ กระจายอยู่ทั่วไปในน้ำยางที่อุณหภูมิสูง
การเก็บรักษาน้ำยางรูปแบบนี้เรียกว่า การเก็บรักษาน้ำยางแบบแบบแอมโมเนียต่ำ ( Low Ammonia : LA ) ซึ่งปกติใช้กับการเก็บรักษาน้ำยางข้น แต่ในปัจจุบันได้มีการนำวิธีการเก็บรักษาน้ำยางรูปแบบนี้ไปใช้แพร่หลายใน ขั้นตอนการเก็บรักษาสภาพน้ำยางสดจากสวนจนมากกว่าการใช้แอมโมเนียเพียงอย่าง เดียว