ลักษณะของยางแผ่นคุณภาพดี
การแปรรูปน้ำยางเป็นยางแผ่นดิบทั้ง 3 รูปแบบ คือ การจับตัวเชิงเดี่ยว เชิงผสม และแบบต่อเนื่องนั้น ถึงแม้จะมีกระบวนการแปรรูปที่แตกต่างกัน แต่ก็ยังตั้งอยู่บนหลักการพื้นฐานง่าย ๆ คือ
- การรักษาความสะอาด
- รีดแผ่นยางให้บางสม่ำเสมอ
- ควบคุมสีของแผ่นยางให้สม่ำเสมอ
- ใช้น้ำและสารจับตัวถูกต้องตามอัตราส่วน
การควบคุมปัจจัยในการแปรรูปน้ำยางเป็นยางแผ่นตามที่ กล่าวมา เป็นส่วนสำคัญในการสร้างมาตรฐานคุณภาพของยางแผ่นดิบที่ผลิตได้ โดยทั่วไปลักษณะของยางแผ่นดิบที่ดี ควรมีองค์ประกอบดังนี้
- แผ่นยางต้องสะอาด ไม่มีรอยคราบน้ำกรด หรือร่องรอยสารจับตัวหลงเหลืออยู่ บนผิวของแผ่นยางต้องไม่เหนียวเยิ้ม
- เมื่อส่องดูภายในแผ่นยาง ต้องไม่มีสิ่งสกปรก , จุดด่างดำ หรือจุดฟองอากาศปะปนอยู่ในเนื้อยาง
- สีของแผ่นยางต้องสม่ำเสมอเป็นสีเดียวกันตลอดแผ่น ไม่มีสีคล้ำเกินไป หรือมีสีกระดำกระด่าง
- แผ่นยางมีลายดอกนูนเด่นชัด มีความยืดหยุ่น เมื่อทดลองดึงแผ่นยางจะไม่ขาดง่ายหรือเป็นรูพรุน
- แผ่นยางควรมีความหนา บาง ที่สม่ำเสมอตลอดทั้งแผ่น ควรควบคุมความหนาของแผ่นยางให้อยู่ที่ประมาณ 2.5 – 3.5 มิลลิเมตร
- แผ่นยางควรเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีขนาดความกว้างประมาณ 40 – 45 เซนติเมตร และควรยาวประมาณ 80 – 85 เซนติเมตร
- น้ำหนักของยางแผ่นโดยประมาณ ควรอยู่ที่ 800 – 1200 กรัม
- เมื่อผึ่งให้แห้งดีแล้ว ควรมีความชื้นเหลืออยู่ไม่เกิน 3 %