ผลกระทบจากความเสถียรของน้ำยาง
ในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางจากน้ำยาง ทำให้เกิดความต้องการน้ำยางมาเป็นวัตถุดิบจำนวนมาก น้ำยางที่จะนำมาเป็นวัตถุดิบนี้ นอกจากต้องมีปริมาณที่มากเพียงพอแล้ว ยังต้องการคุณภาพที่สม่ำเสมอ ดังนั้นการใช้น้ำยางสดจากแต่ละสวน ซึ่งมีคุณภาพไม่สม่ำเสมอมาเป็นวัตถุดิบ ทำให้ยากต่อการควบคุมกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์จากน้ำยาง จึงต้องนำน้ำยางสดมาแปรรูปขั้นต้นให้มีคุณภาพที่สม่ำเสมอก่อน
การแปร รูปน้ำยางให้เป็นผลิตภัณฑ์ยางประเภทต่าง ๆ นั้น เป็นการทำให้น้ำยางเสียความเสถียรหรือเสียสภาพ เปลี่ยนสถานะจากของเหลว คือน้ำยาง เป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นของแข็ง ซึ่งเป็นการทำให้น้ำยางที่ถูกรักษาสภาพมาเป็นอย่างดี ต้องสูญเสียสภาพในช่วงเวลาที่พอดีตามที่กระบวนการผลิตต้องการให้ได้ ผลิตภัณฑ์ยางที่มีคุณภาพตรงตามวัตถุประสงค์ ดังนั้น จึงต้องเรียนรู้ถึงคุณลักษณะต่าง ๆ ของน้ำยาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องดังนี้
– ความเสถียรของน้ำยาง ซึ่งจะพิจารณาถึงปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความเสถียรของน้ำยาง
– การสูญเสียความเสถียรของน้ำยาง ที่มีอยู่ 2 แบบด้วยกัน คือ การเสียความเสถียรทางกายภาพ และการเสียความเสถียรทางเคมี
ผลกระทบจากความเสถียรของน้ำยาง
ความเสถียรของน้ำยาง หมายถึง ความสามารถที่อนุภาคยางสามารถรักษาสภาพของการมีรูปร่างขนาดเดิม
ความไม่เสถียรของน้ำยาง หมายถึง การสูญเสียความสามารถในการคงสภาพของการมีรูปร่างขนาดเท่าเดิมของแต่ละอนุภาค
ตาม หลักเทอร์โมไดนามิค น้ำยางถือเป็นสารที่ไม่เสถียร อนุภาคยางจะพยายามรวมตัวกันให้มีอนุภาคใหญ่ขึ้น เป็นการลดพื้นที่ผิวลง คล้ายกับฟองสบู่ที่พยายามรวมตัวกันเป็นฟองใหญ่ ทำให้ฟองมีความเสถียรเพิ่มขึ้น แต่โดยปกติน้ำยางธรรมชาติมีความเสถียรอยู่ เพราะมีสารที่เป็นโปรตีนหรือสบู่เกาะที่ผิวของอนุภาค สารเหล่านี้เป็นประจุลบ จึงผลักกันไม่ให้อนุภาคยางรวมตัวเข้าด้วยกัน นอกจากนี้ถ้าน้ำยางอยู่ในสภาวะที่เป็นด่าง ฟอสโฟไลปิดที่ห่อหุ้มอนุภาคยางจะเกิดการไฮโครไลซิส เกิดเป็น fatty acid soap ห่อหุ้มอนุภาคยาง ให้เกิดความเสถียรขึ้น
ความรู้เรื่องความ เสถียรของน้ำยางในสภาวะที่เป็นด่าง ถูกนำมาใช้ในการช่วยเพิ่มความเสถียรของน้ำยาง โดยการใช้สารเคมีในกลุ่มที่เรียกว่า สาร Stabiliser มาช่วยปรับความเสถียรของน้ำยาง ความพยายามรักษาความเสถียรของน้ำยางควรระมัดระวังถึงผลกระทบจากความเสถียร ของน้ำยาง ดังนี้
1. น้ำยางที่เก็บรักษาด้วยแอมโมเนียที่มีสถานะเป็นด่าง ถ้าใช้แอมโมเนียในปริมาณที่สูง จะเกิดการไฮโดรไลซิสของฟอสโฟไลปิดได้ดีกว่าน้ำยางที่เก็บรักษาด้วยแอมโมเนีย ปริมาณต่ำ
2. สารเคมีในกลุ่ม Stabiliser ที่ใช้กับน้ำยางจะมีอยู่ 2 ระบบด้วยกัน คือ
- ระบบ IONIC จะแยกเป็น 3 กลุ่มย่อย คือ ชนิด ANIONIC ( มีประจุลบ ) , ชนิด CATIONIC ( มีประจุบวก ) และชนิด AMPHOTERIC ( ประจุบวกหรือลบ ขึ้นอยู่กับ pH )
- ระบบ NON – IONIC จะให้ความเสถียรต่อ กรด ด่าง และเกลือ เป็นอย่างดี แต่ที่อุณหภูมิสูงจะเกิดการตกตะกอน หลุดออกมาจากอนุภาค ทำให้น้ำยางสูญเสียความเสถียร
3.การ ใช้สารเคมีในกลุ่ม Stabiliser เพื่อปรับความเสถียรของน้ำยาง ถ้าใช้ในปริมาณที่มากเกินจะส่งผลเสียต่อขั้นตอนการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยาง ได้แก่
- การจับตัว หรือ ขึ้นรูปในขั้นการตอนการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง ทำได้ยาก
- ทำให้ความตึงผิวของน้ำยางต่ำกว่าปกติ
- ความแข็งแรงของผลิตภัณฑ์ยางที่ได้จะต่ำกว่าปกติ
- ผลิตภัณฑ์ยางที่ผลิตเสร็จจะดูดความชื้นได้ง่าย ดูคล้ายกับผิวไม่แห้ง
- สร้างปัญหาด้านคุณภาพให้กับผลิตภัณฑ์ยาง เช่น รูรั่วในถุงมือ , ฟองน้ำยุบตัวง่าย เป็นต้น
- เป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง
4. ธรรมชาติของน้ำยางจะมีสภาพที่ไม่เสถียรที่ pH < 8 และจะพบว่าที่ pH ประมาณ 4.1 ไม่มีประจุเหลืออยู่บนอนุภาคยาง ทำให้ไม่มีการผลักกันเกิดขึ้น