การเสียความเสถียรของน้ำยางทางเคมี
สารเคมีที่เติมลงในน้ำยางแล้วทำให้น้ำยางเสียความเสถียร เกิดจากการลดประจุบนผิวของอนุภาคยางในน้ำยาง ทำให้น้ำยางเปลี่ยนแปลงจนเสียสภาพ การลดประจุบนผิวเกิดขึ้นได้โดย
- สารเคมีทำปฎิกริยากับสบู่บนอนุภาคยาง ทำให้สบู่หมดประสิทธิภาพ
- สารเคมีมาอออยู่ที่ผิวอนุภาคมาก ทำให้แรงผลักลดลง
- สารเคมีดึงเอาสารเพิ่มความเสถียรออกจากอนุภาคเม็ดยาง
การเสียความเสถียรทางเคมี เกิดจากสารเคมีในกลุ่มต่าง ๆ ดังนี้
1. การเสียสภาพโดยกรด
กรด เป็นสารที่แตกตัวแล้วให้อนุมูลไฮโดรเจน ( H+ ) ซึ่งจะไปทำปฎิกริยากับอนุมูลคาร์บอกซิเลทที่มีอยู่รอบ ๆ อนุภาคยาง ทำให้สบู่กรดไขมันที่อยู่บนอนุภาคเม็ดยาง ได้ถูกกรดเปลี่ยนสภาพเป็นกรดไขมันที่ไม่มีประจุเหลืออยู่ ทำให้จำนวนประจุบนอนุภาคเม็ดยางลดลงส่งผลให้น้ำยางหมดความเสถียร
การใช้ประโยชน์จากกรด
การ ใช้กรดจะทำให้น้ำยางจับตัวเป็นก้อนแยกตัวออกจากน้ำยางอย่างรวดเร็ว ( Coagulant ) แต่ถ้าใช้ในปริมาณน้อย การจับตัวจะใช้เวลามากขึ้น ตัวอย่างเช่น ใช้กรดฟอร์มิก แยกยางออกจากน้ำยางในการทำยางแผ่นหรือยางแท่ง นอกจากนี้ยังใช้จับตัวน้ำยาง ในกระบวนการทำสายยางยืด
2. การเสียสภาพโดยโลหะอิออน
โลหะอิออน ทำให้น้ำยางที่เสถียรด้วยสบู่กรดไขมันเกิดการเสียสภาพได้ โดยมีปฎิกริยาเคมีเกิดขึ้น 2 แบบด้วยกัน ได้แก่
แบบที่ 1 : อนุมูลของโลหะทำปฎิกริยากับอนุมูลของคาร์บอกซิเลท ทำให้เกิดสบู่ของโลหะหนัก ( Metallic soap ) ที่ไม่ละลายน้ำ และไม่เกิดการแลกเปลี่ยนประจุ ( Ionize ) อีกต่อไป ทำให้ชั้นของประจุรอบ ๆ อนุภาคยางเสียไป
แบบที่ 2 : เกิด จากอนุมูลโลหะทำปฎิกริยากับไฮดรอกไซด์ ( OH- ) ได้เป็นโลหะไฮดรอกไซด์ที่ไม่ละลายน้ำ และอาจตกตะกอนในน้ำได้ ปฎิกริยาแบบนี้จะดูดเอาสารสเตบิไลเซอร์ตกตะกอนลงมา และทำให้เกิดการตกตะกอนร่วมกันของอนุภาคยางกับโลหะได้อีกด้วย
การใช้ประโยชน์ของเกลืออิออน
จากลักษณะการเสียสภาพของน้ำยางจากเกลืออิออน ได้มีการนำเกลืออิออนมาใช้ประโยชน์เป็นสาร Coagulant ในกระบวนการจุ่ม เช่น การผลิตถุงมือยาง จะใช้เกลือของ Calcium Chloride หรือ Calcium Nitrate เป็นต้น นอกจากนี้ยังใช้เกลือร่วมกับกรดในการจับตัวน้ำยาง ในกระบวนการผลิตสายยางยืด
3. การเสียสภาพโดยตัวทำละลาย
ตัวทำละลายที่จะทำให้น้ำยางเสียสภาพ ได้แบ่งเป็น 2 กลุ่มดังนี้
กลุ่มที่ 1 : ตัวทำละลายที่ละลายน้ำ จะละลายหรือเข้ากันได้ดีกับน้ำ เช่น อัลกอฮอล์ และ อะซีโตน เป็นต้น ตัวทำละลายกลุ่มนี้จะทำให้น้ำยางเกิดการสูญเสียสภาพได้อย่างรวดเร็ว โดยมีกลไกการทำงาน คือ ตัวทำละลายเหล่านี้จะไปดึงน้ำที่คลุมอยู่บนผิวอนุภาคยางออก ทำให้ความสามารถในการรักษาสภาพความเสถียรที่ผิวของอนุภาคยางลดลง ซึ่งจะเห็นผลได้ชัดเจนในน้ำยางที่ใช้ non – ionic stabilizer เป็นสารรักษาความเสถียร
กลุ่มที่ 2 : ตัวทำละลายที่ไม่ละลายน้ำ จะไม่สามารถละลายหรือเข้ากันได้เป็นเนื้อเดียวกับน้ำ เช่น เบนซิน ( Benzene ) หรือคาร์บอนเตตระคลอไรด์ ( Carbon tetrachloride ) เป็นต้น ตัวทำละลายกลุ่มนี้แม้จะไม่สามารถละลายเป็นเนื้อเดียวกับน้ำได้ แต่สามารถละลายเข้ากันได้กับอนุภาคยาง อนุภาคของเม็ดยางจะเกิดการพองบวม และสเตบิไลเซอร์ที่มีอยู่เดิมไม่สามารถคลุมผิวได้หมด ทำให้อัตราการชนเพิ่มขึ้น จนน้ำยางเสียสภาพได้ในที่สุด
การใช้ประโยชน์ของระบบตัวทำละลาย
การ เสียสภาพจากระบบตัวทำละลาย นำไปใช้ประโยชน์ในการใช้แยกยางออกจากการจับตัวไม่หมด เช่น ในการหา DRC ของน้ำยาง และยังใช้ในการหาระยะการทำพรีวัลคาไนซ์ที่เหมาะสม เช่น ระบบ Chloroform test
4. การเสียสภาพโดยระบบที่ไวต่อความร้อน
เป็น ระบบที่เมื่อเติมสารเคมีลงไปแล้ว จะไม่ค่อยมีผลต่อน้ำยางมากนักที่อุณหภูมิห้อง แต่เมื่อเพิ่มอุณหภูมิให้สูงขึ้น น้ำยางจะเกิด gel อย่างรวดเร็ว มีใช้อยู่โดยทั่วไป 2 ระบบด้วยกัน คือ
ระบบที่ 1 : Zinc ammine system เป็นระบบที่ประกอบด้วยสาร 3 อย่างด้วยกัน ได้แก่
- แอมโมเนีย ( ต้องไม่มีด่างแรง เช่น KOH หรือ NaOH )
- ซิงค์ออกไซด์ ( ZnO )
- เกลือแอมโมเนีย
ระบบนี้เมื่อใส่ลงไปในน้ำยางจะทำให้น้ำยางค่อย ๆ หนืดขึ้น เมื่อตั้งทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้อง เรียกปฎิกริยานี้ว่า การเกิด ZnO Thickening
การใช้ประโยชน์ของระบบ Zinc ammine complex
โดย ปกติจะใช้ประโยชน์จากการเสียสภาพของน้ำยางแบบระบบ Zinc ammine complex ในกระบวนการผลิตที่ต้องการผลิตภัณฑ์ที่มีความหนา เช่น ทำลูกบอล ตุ๊กตา เป็นต้น และใช้ในกระบวนการทำฟองน้ำชิ้นบาง ๆ เช่น ฟองน้ำปูพื้น เป็นต้น
ระบบที่ 2 : ระบบสเตบิไลเซอร์ที่ตกตะกอนเมื่ออุณหภูมิสูง สารที่ใช้เป็นสารที่ไวต่อความร้อนจะเป็นสเตบิไลเซอร์ที่ดีเมื่อเย็นหรือที่ ระดับอุณหภูมิห้อง ซึ่งจะคลุมผิวอนุภาคยางได้ดี รักษาความเสถียรของน้ำยางได้ แต่เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น ความสามารถในการละลายของสเตบิไลเซอร์ลดลง จะตกตะกอนออกจากสารละลายทำให้น้ำยางเสียสภาพได้
สารเคมีใน กลุ่มนี้ ส่วนใหญ่จะตกตะกอนในช่วงอุณหภูมิตั้งแต่ 30 – 40 องศาเซลเซียส ขึ้นไป มีตัวแปรสำคัญในการใช้งานคือ pH และการมี ZnO
การใช้ประโยชน์ของระบบ Heat sensitive stabilizer
มีการใช้ระบบนี้ในผลิตภัณฑ์ที่ต้องการความหนา เช่น ใช้ทำหัวนมยาง , ยางในของรถจักรยาน , ท่อยางสายน้ำเกลือ เป็นต้น
5. การเสียสภาพโดยการหน่วงทางเคมี ( Delayed action chemical )
เป็น ระบบที่มีการเติมสารเคมีลงไปแล้ว จะเริ่มจับตัวน้ำยางภายในระยะเวลาที่ช้าออกไป เช่น 2 – 5 นาที เป็นต้น สารในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นเกลือของ hydrofluorosilicic acid การ delay action มาจากการไฮโดรไลซิสของ silicofluoride ion และเกิดจับตัวกันเองเป็น orthosilicic acid ขึ้น การเสียสภาพแบบนี้ถูกนำไปใช้ในการทำผลิตภัณฑ์ฟองน้ำ แบบ Dunlop Process