ขั้นตอนการเตรียมความพร้อมยางแผ่นดิบผึ่งแห้ง

ก่อนเริ่มการผลิตควรตรวจสอบความพร้อมในด้านต่าง ๆ  ดังนี้
1.    ตรวจสอบปริมาตรหรือความจุของห้องรมที่จะใช้งานให้ชัดเจน
2.    ตรวจสอบสภาพเตา  และระบบการจ่ายความร้อนให้อยู่ในสภาพที่สามารถใช้งานได้ตามปกติ
3.    ตรวจสอบสภาพภายในห้องรม  ให้อยู่ในสภาพที่สะอาด และมีความพร้อมในการใช้งานได้ตามปกติ
4.    คัดเลือกยางที่จะนำเข้ารมควัน  โดยต้องคำนึงถึง

  • น้ำหนักหรือจำนวนยางแผ่นที่จะนำเข้าห้องรมควัน  ควรมีปริมาตรหรือจำนวนแผ่นยางใกล้เคียงกับความจุห้องรมควันที่เลือกใช้งาน
  • ความชื้นในแผ่นยางดิบ ควรมีความชื้นอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกันทั้งห้อง
  • สภาพแผ่นยางควรอยู่ในสภาพปกติ  ไม่แตกลายงา  หรือผิวเยิ้มเป็นมัน เนื่องจากการจัดเก็บเป็นเวลานาน

5.    ตรวจสอบความพร้อมของเครื่องล้างยาง  บ่อล้างยาง  เก๊ะตากยาง   และอุปกรณ์ช่วยงานอื่น ๆ  ให้พร้อมใช้งาน
6.    เตรียมน้ำสะอาดให้มีปริมาตรเพียงพอกับความต้องการทำความสะอาดแผ่นยาง

smoke sheet rubber2_rubberdigest

ขั้นตอนการรมควันจากยางแผ่นดิบผึ่งแห้ง

1.    นำยางที่คัดเลือกไว้สำหรับเข้าห้องรมควัน  มาชั่งน้ำหนัก  และบันทึกข้อมูล
2.    ทะยอยลอกแผ่นยางดิบลงแช่ในบ่อน้ำหน้าเครื่องล้างยาง
3.    นำยางแผ่นดิบที่แช่ไว้ผ่านเข้าเครื่องล้างยางทีละแผ่น  ยางแผ่นที่ผ่านเครื่องล้างยางออกมา จะลงไปแช่ในบ่อล้างยางด้านหลังของเครื่องล้างยาง
4.    นำยางแผ่นดิบที่ผ่านการล้างแล้ว  ไปตากบนเก๊ะยางที่เตรียมไว้แต่ะละเก๊ะ  การนำแผ่นยางดิบไปตาก ถ้าพบว่ายางแผ่นที่ผ่านการล้างแล้วยังไม่สะอาด  ต้องนำไปเข้าเครื่องล้างยางอีกครั้งหนึ่ง
5.    ยางแผ่นดิบที่ตากไว้บนเก๊ะตากยาง  ควรผึ่งลมให้น้ำที่ติดอยู่ที่ผิวของแผ่นยางระเหยไป
6.    ก่อนนำยางแผ่นดิบเข้าห้องรมควัน  ต้องจุดเตา  อุ่นเตาและห้องรมควันเอาไว้ก่อน
7.    ในระหว่างการอุ่นเตาและห้องรมควัน  สามารถทะยอยนำเก๊ะที่ตากยางแผ่นให้ระเหยน้ำออก  เข้าสู่ห้องรมควันที่จัดเตรียมไว้ได้
8.    เมื่อนำยางแผ่นดิบเข้าห้องรมควันครบแล้ว  ต้องปิดประตูห้องรมควันให้สนิท  แล้วเริ่มกระบวนการรมควันยางได้
9.    ในระหว่างการรมควันยาง  ควรตรวจดูสภาพยางภายในห้องรมควันอย่างสม่ำเสมอ  และควรบันทึกการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิภายในห้องรมเอาไว้ด้วย
10.    เมื่อสังเกตว่ายางที่อยู่ในห้อง  ได้ถูกรมควันจนแห้งสนิท  ให้ค่อย ๆ ลดไฟในเตาลง
11.    นำยางที่รมแล้วออกจากห้อง  สาวยางลงจากเก๊ะ แล้วชั่งน้ำหนักยางที่ออกจากห้อง เพื่อเปรียบเทียบกับน้ำหนักยางแผ่นดิบก่อนรมควัน

 

ขั้นตอนหลังการรมควัน

หลังการรมควันยางแล้วเสร็จ  ควรตรวจสอบ บำรุงรักษาอุปกรณ์และเครื่องมือต่าง ๆ ดังนี้

1.    เครื่องล้างยาง

  • ดูแลรักษาความสะอาดของเครื่อง เช่น ความสะอาดของลูกกลิ้ง  , แปรงล้างยาง , บ่อล้างยาง  เป็นต้น
  • ตรวจสอบระบบการหล่อลื่นตลับลูกปืนของเครื่องล้างยาง
  • ตรวจสอบระบบการขับเคลื่อนเครื่องล้างยาง เช่น พูลเลย์ , สายพาน  เป็นต้น
  • ตรวจสอบดูแลระบบไฟฟ้าให้พร้อมใช้งาน  และพร้อมเรื่องความปลอดภัยในขณะปฎิบัติงาน

2.    ห้องรมควัน  

  • ทำความสะอาดภายในบริเวณห้องรม  เก็บเศษยางที่ตกหล่นบนพื้นห้องรมให้หมด
  • ควรใช้ไฟส่องดูภายในท่อส่งความร้อน ถ้ามีเศษยางตกลงไป  ต้องเก็บขึ้นมาให้หมด
  • ใช้ไฟส่องสำรวจว่ามีรอยแตกร้าวบนพื้น หรือบริเวณผนังห้องหรือไม่  โดยเฉพาะบริเวณด้านหลังห้องรมที่ติดกับเตา
  • ตรวจสอบระบบควบคุมการปิด-เปิด ช่องเพดานห้องรม ให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ตามปกติ
  • ตรวจสอบสภาพของประตูห้องรมควัน ให้อยู่ในสภาพปกติ
  • ตรวจสอบดูแลอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้งานในห้องรมควันให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ตามปกติ  เช่น เทอร์โมมิเตอร์สำหรับวัดอุณหภูมิ  ระบบดับเพลิงฉุกเฉินภายในห้องรม  เป็นต้น

3.     เตา

  • ทำความสะอาดภายในเตา และรอบ ๆ บริเวณให้เรียบร้อย  โดยเฉพาะการโกยขี้เถ้าภายในเตาออกไปให้หมด
  • ตรวจสอบภายในเตา , รอบ ๆ  เตา  และผนังห้องรมควันด้านหลัง ว่ามีรอยร้าวเกิดขึ้นหรือไม่
  • ควรใช้ไฟส่องเข้าไปภายในเตา  เพื่อตรวจสอบดูว่า มีรอยแตกร้าวของคานภายในหรือมีอิฐทนไฟเสียหายหรือไม่

4.    เก๊ะตากยาง

  • ตรวจสอบเก๊ะตากยางให้อยู่ในสภาพที่แข็งแรงเป็นปกติ  ไม่มีส่วนประกอบที่โก่งหรือหักงอ
  • ตรวจสอบด้านล่างของเก๊ะตากยางว่ามีเศษยางที่ขาดหล่นลงไปติดอยู่หรือไม่  ถ้ามีต้องทำความสะอาดให้เรียบร้อยก่อนนำไปใช้รอบใหม่
  • ตรวจสอบไม้ไผ่ที่ใช้ตากยาง  ถ้ามีรอยหัก หรือแตกเป็นเสี้ยน ควรทิ้งไป แล้วนำอันใหม่มาใช้งาน

5.    เครื่องชั่งน้ำหนัก

  • ควรทำความสะอาดเครื่องชั่งอย่างสม่ำเสมอ
  • ต้องทวนสอบความถูกต้องของเครื่องชั่ง