การเดินทางของยางพาราสู่ทวีปเอเชีย
ก่อนปี ค.ศ.1900 ผลผลิตยางพาราของโลก จะมาจากประเทศแถบอเมริกาใต้ และอเมริกากลาง เช่น ประเทศบราซิล ปานามา หรือโคลัมเบีย เป็นต้น เมื่อมีความต้องการใช้ยางเพิ่มมากขึ้น จนคาดการณ์ว่าจะเกิดการขาดแคลนยางขึ้นได้ในอนาคต โดยเฉพาะในทวีปยุโรปซึ่งเป็นผู้บริโภคหลักที่ต้องพึ่งยางจากแหล่งผลิตเท่า นั้น ดังนั้นโธมัส แฮนค๊อก นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ ที่ศึกษาทางด้านยาง จึงปรึกษากับ เซอร์โจเซฟ ฮุกเกอร์ ถึงเรื่องความสนใจที่จะนำยางพาราออกมาปลูกนอกเขตอเมริกาใต้ และอเมริกากลาง แต่ยังไม่ได้รับการสนับสนุน จนได้ไปปรึกษาเพิ่มเติมกับ เซอร์คลีแมน มาร์คแฮม ผู้ช่วยเลขาธิการประจำทำเนียบผู้ว่าการประจำอินเดีย ซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษ จึงเกิดความพยายามที่จะปลูกยางในทวีปเอเชียขึ้นเป็นครั้งแรก
ค.ศ.1859 เซอร์ คลีเมนส์ มาร์คแฮม (Sir Clements Markham) ได้ศึกษาเกี่ยวกับการนำพันธุ์ยางออกมาปลูกนอกพื้นที่อเมริกาใต้ และคาดว่าสามารถปลูกและเจริญเติบโตได้ดี ในแถบพื้นที่เอเชียตะวันออกและอินเดีย
ค.ศ.1873 ฟาร์รีส (Farris) ได้ส่งเมล็ดยาง 2000 เมล็ด มาเพาะที่สวนพฤกษชาติคิว (Royal Botanic Gardens, Kew) ในกรุงลอนดอน ปรากฏว่าเพาะงอก 12 ต้น จึงนำต้นกล้าจำนวน 6 ต้น ส่งมาปลูกที่สวนพฤกษชาติ Royal Botanical Gardens ที่เมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดีย ถือว่าเหตุการณ์นี้เป็นจุดเริ่มต้นของการขยายพื้นที่ปลูกยางจากทวีปอเมริกา ใต้มายังทวีปเอเชีย
ค.ศ.1876 เซอร์ เฮนรี่ วิคแฮม (Sir Henry Wickham) นักพฤกษศาสตร์ที่ทำงานอยู่ที่ประเทศบราซิล ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งการปลูกยาง (Father of rubber plantation) เป็นผู้ประสบผลสำเร็จในการปลูกยาง ได้ส่งเมล็ดพันธุ์ยางจำนวน 70,000 เมล็ด มาเพาะที่สวนพฤกษชาติคิว ปรากฏว่ามีเมล็ดงอก 2,397 ต้น
ค.ศ.1876 ครอสส์ (Cross) ได้นำต้นกล้ายางมาจากบราซิลจำนวน 1,080 ต้น ส่งมาที่สวนพฤกษศาสตร์คิว จากนั้นได้ทำการขยายพันธุ์โดยการนำต้นกล้า 1,919 ต้น ส่งมาปลูกที่สวนพฤกษชาติ ในประเทศศรีลังกา
ค.ศ.1877 ได้มีการส่งต้นกล้าที่โตแล้วจากศรีลังกา จำนวน 22 ต้น มาปลูกในสวนพฤษชาติสิงคโปร์ จำนวน 13 ต้น และปลูกที่สวนหลังบ้านข้าหลวงใหญ่อังกฤษ ที่รัฐเปรัค ประเทศมาเลเซีย อีก 9 ต้น ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นการปลูกยางในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งต่อมาเป็นพื้นที่ปลูกยางที่สำคัญที่สุด
ค.ศ.1884 เริ่มมีการกรีดยางครั้งแรกในเอเชีย ที่ประเทศศรีลังกา
ค.ศ.1889 ริดเลย์ (Ridley) เริ่มทดลองหาวิธีกรีดยาง และพบว่าการกรีดยางตอนเช้า ต้นยางจะให้น้ำยางได้ดีกว่าตอนบ่าย นับเป็นการกรีดยางครั้งแรกในสิงคโปร์
ค.ศ.1895 ประเทศมาเลเซียเริ่มมีการปลูกยางทางการค้าเป็นครั้งแรก โดยชาวจีนที่รัฐมะละกา
ค.ศ.1899 ชาวอังกฤษได้เริ่มทำสวนยางขึ้นที่ประเทศศรีลังกา